PSP เร่งขยายตลาด “ตปท.” เต็มสูบ ดันยอดขายปี 67 โต 20%
PSP ปักหมุดปี 67 ยอดขายสินค้าโต 10-20% พ่วงรับรู้รายได้บริษัทย่อย พร้อมเดินหน้าขยายโปรดักส์เพิ่มหนุนผลงานปีนี้โตแกร่งและลุยตลาดต่างประเทศเต็มสูบ ดันมาเก็ตแชร์ภายใน 3 ปี เติบโต 30%
นายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ว่าบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,075.87 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 184.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 338% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42.14 ล้านบาท ซึ่งกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นได้รับปัจจัยหนุนมาจากยอดขายที่เติบโตจากลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงหลังนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้สถาบันการเงิน
โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทได้เข้าลงทุนใน บริษัท จีเนียส เจเนติกส์ จำกัด หรือ GeneusDNA จำนวน 125 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการแปลผลจากชุดตรวจ DNA สาเหตุที่ PSP ได้เข้าลงทุนมาจากเทรนด์การเติบโตในธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาบริษัท GeneusDNA สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่บริษัทมี Hidden Value of DNA จำนวน 50,000 ตัวอย่าง มากที่สุดในอาเซียนซึ่งปัจจัยสนับสนุนต่อการวิจัยเพื่อต่อยอดธุรกิจ DNA ในอนาคต
อีกทั้ง บริษัทได้เดินหน้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง สัดส่วน 65% มูลค่า 409.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการกำจัดสารเคมีใช้แล้วด้วยวิธีการนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมบริการกำจัดสารเคมีด้วยกระบวนการรีไซเคิล โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้ในปี 2567 เนื่องจาก PSP มั่นใจในอัตราการเติบโตที่ผ่านมาของ รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งในปี 2563 สามารถสร้างการเติบโตทางรายได้อยู่ที่ 900 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คาดการณ์ว่าปี 2569 สะสามารถเติบโตที่ 1,199.50 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปัจจัยการมีลูกค้าที่หลากหลายกลุ่ม อาทิ รถยนต์อุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมเคมี, อิเล็กทรอนิกส์, ภาครัฐ และสถานศึกษา เป็นต้น
“สำหรับบริษัทมี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการอยู่ คือ น้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานยนต์และน้ำมันหล่อลื่นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม (Lubricant) ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 212 ล้านลิตรต่อปี และ จารบีสำหรับยานยนต์ (Grease) กำลังการผลิตอยู่ที่ 27,548 ล้านลิตรต่อปี (สูงสุดในประเทศไทย), น้ำมันที่ช่วยในการขึ้นรูปยางรถยนต์ (Rubber Process Oil) กำลังการผลิตส่วนนี้อยู่ที่ 44 ล้านลิตรต่อปี รวมไปถึงน้ำมันประเภทใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer Oil) โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 25 ล้านลิตรต่อปี” นายเสกสรร กล่าว
นายเสกสรร กล่าวอีกว่า ในส่วน 4 กลุ่มธุรกิจหลักผลิตภัณฑ์ที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในปี 2566 คือ Lubricants มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 24%, Grease อยู่ที่ 45% และสุดท้าย Transformer Oil อยู่ที่ 68% ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทให้บริการทั้งกลุ่มยานยนต์, อุตสาหกรรม, พลังงานและสาธารณูปโภค ธุรกิจการค้า และโลจิสติกส์ โดยได้ขายสินค้าออกไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกครอบคลุมทวีปเอเชีย และตะวันออกกลางรวมถึงแอฟริกาและยุโรป
ทั้งนี้ คาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่นในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปี 2563-2571 จะสามารถเติบโตอยู่ที่ 2.80% ซึ่งจากการเติบโตนั้นบริษัทต้องการรักษาการเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นผ่านการดำเนินการขยายตลาดสู่สากลมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและจัดการช่วงโซ่อุปทาน ขณะที่เป้าหมายของบริษัทต้องการการเติบโตในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ Lubricants เติบโต 50%, Specialty Products อยู่ที่ 25% และ Trading Servicer 25% รวมถึงการสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศ 30% ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2567-2569) โดยจากเดิมในไตรมาส 1/2567 ตลาดต่างประเทศเติบโตอยู่ที่ 15.40%
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการขยายโปรดักส์ให้มีความหลายหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มน้ำมันอเนกประสงค์ รวมถึงการผลิตน้ำมันหล่อลื่นเกรดอาหาร (Food Grade Lubricant) ซึ่งล่าสุดบริษัทได้เป็นผู้ผลิต AdBlue รายแรกในประเทศไทย โดย AdBlue คือน้ำยาบำบัดไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล ปัจจุบันมีกำลังในการผลิต AdBlue อยู่ที่ 10 ล้านลิตรต่อปี
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก (Greenovative Creation) อาทิ การนำน้ำมันล่อลื่นที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Re-Refined Base Oil) , การผลิตน้ำยาหล่อเย็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจารบีและน้ำมันเกียร์ (EV AppLication) รวมไปถึงน้ำมันชีวภาพที่ทำจากปาล์มออย (Bio-Based Lubricant)
“อย่างไรก็ตามยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมการเป็นแห่งบริการห้องปฏิบัติการและฝึกอบรมความปลอดภัยให้แก่โรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงของบริษัท อาทิ สมุทรสาครและภาคตะวันตก ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักๆของบริษัท รวมไปถึงการขยายการลงทุนผ่านเครือข่ายเข้าซื้อในบริษัทย่อย เพื่อผสานธุรกิจระหว่างกันให้เติบโตไปข้างหน้า” นายเสกสรร กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2567 บริษัทคาดการณ์ให้ผลประกอบการออกมาในทิศทางที่ดีจากการเติบโตในบริษัทย่อยต่างๆ อาทิ การฟื้นตัวของกำไรจาก WhatsEgg (Thailand) และ Pacific-PSP Syntech
โดยที่ผ่านมาธุรกิจที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนในประเทศสิงคโปร์อย่าง WhatsEgg ซึ่งบริษัทที่ให้บริการซื้อขายอะไหล่ยานยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น มีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ PSP คาดการณ์ว่าภายในปี 2567 จะสามรถสร้างยอดซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มอยู่ที่ 746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 403 ล้านบาท และจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ผลงานบริษัทเติบโตในอนาคต สุดท้ายนี้ภาพรวมปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมียอดขายกลุ่มผลิตภัทฑ์เติบโตประมาณ 10-20% ขณะที่ธุรกิจในประเทศบริษัทจะมุ่งเน้นกลุ่มน้ำมันหล่อลื่นสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นซึ่งในปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและมั่นคง พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจะได้แรงหนุนจากการลงทุนในบริษัทย่อยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น