CFARM ตั้ง “ยูโอบี-บียอนด์” นั่งอันเดอร์ไรท์ เคาะราคาไอพีโอ 1.35 บาท จองซื้อ 27-29 พ.ค.67
CFARM แต่งตั้ง “บล.ยูโอบี-บียอนด์” เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมกำหนดราคาขายไอพีโอ 1.35 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 27-29 พ.ค.นี้
บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 1.35 บาท จำนวนเสนอขาย 149,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ระยะเวลาจองซื้อตั้งแต่วันที่ 27-29 พ.ค.67 โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ขณะที่มี บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด และ บล.บียอนด์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
สำหรับการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่เสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) คิดเป็น P/E เท่ากับ 26.18 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66-31 มี.ค.67 ซึ่งมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่ากับ 29.91 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลัง IPO ซึ่งเท่ากับ 580.00 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท เท่ากับ 0.05 บาท
อนึ่ง CFARM ประกอบธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ ประเภทฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาแบบประกันราคา โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโรงเรือน รวมทั้งอุปกรณ์การเลี้ยงตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ได้ไก่เนื้อเป็นไปตามที่คู่สัญญากำหนด
โดยช่วงระหว่างปี 64-66 และงวด 3 เดือนปี 67 คู่สัญญา ประกอบด้วย เบทาโกร ซีพีเอฟ ซันฟู้ด พนัสโพลทรี่ สหฟาร์ม และแหลมทอง ปัจจุบันบริษัทมีฟาร์มเลี้ยงไก่ 8 ฟาร์ม ประกอบด้วยโรงเรือนจำนวน 121 โรงเรือน ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ณ วันที่ 31 มี.ค.67 บริษัทมีความสามารถในการเลี้ยงไก่เนื้อประมาณ 3.18 ล้านตัวต่อรอบการเลี้ยง หรือ 15.88 ล้านตัวต่อปี
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุน 1.เพื่อก่อสร้างฟาร์ม ปรับปรุงโรงเรือน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ 156.62 ล้านบาท ภายในปี 69 โดยบริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนโรงเรือนในการเลี้ยง ปรับปรุงระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีแผนลงทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน 2.เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 20 ล้านบาท ภายในปี 68 และ 3.คืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วน 15 ล้านบาทภายในปี 67