“ธปท.” เปิดตัวเลข NPL อสังหาฯ ไตรมาส 1 พุ่ง 3.49%
ธปท.เผยผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2567 ชี้สินเชื่อยังขยายตัวต่อเนื่อง พบส่วนของ NPL กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.49% เมื่อเทียบจากไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 3.34%
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (21 พฤษภาคม) นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และนางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงข่าวสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อไตรมาสแรก กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 28.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของผลประกอบการ สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ให้ส่วนต่าง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.02%
ส่วนคุณภาพสินเชื่อ หนี้เสีย (NPL) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 9.8 พันล้าน หรือเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 2.74% ต่อสินเชื่อรวม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ เมื่อแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และ SME คุณภาพด้อยลงทั้งคู่ โดยหนี้ที่ด้อยลงใน SME มาจากภาคค้าปลีกและค้าส่ง
ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค คุณภาพด้อยลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์เนื่องจาก NPL ทยอยปรับลดลง โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมี NPL เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 4.13% ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า และเป็นผลมาจากฐานสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลง ส่วนสินเชื่อบ้าน NPL ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่เคยได้รับการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ แต่ยังไม่สามารถกลับมาชำระได้ตามเงื่อนไข และกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการ ได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย
ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ทรงตัวจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และการก่อหนี้ที่กลับมาเร่งขึ้นเล็กน้อย ด้านความสามารถ ในการทำกำไร โดยรวมยังคงปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าจาก ภาคการผลิตและการส่งออกที่ชะลอลง ขณะที่ภาคบริการบางกลุ่ม ยังเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
สำหรับประเด็นการปรับขึ้นอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ว่าเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ NPL ปรับสูงขึ้นนั้น สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า การปรับขึ้นยอดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต ธปท.มีมาตรการรองรับ แต่ยอมรับว่าส่วนหนึ่งส่งผลให้ NPL ปรับเพิ่มขึ้นจริง ประกอบกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นยังมาจากลูกหนี้ที่ไม่ได้ชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตตั้งแต่แรก ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ NPL สูงขึ้น ทั้งนี้ ธปท.มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังมีเวลาทบทวนมาตรการ ก่อนปรับยอดขั้นต่ำกลับสู่ระดับปกติที่ 10% ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม ภาพรวม NPL ปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ) และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยในไตรมาส 1/2567 สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 4.13%, สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.49%, สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.54% และสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.14% ทั้งนี้ สัดส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของ NPL กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.49% เมื่อเทียบจากไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 3.34%