“ก.ล.ต.” เปิดเฮียริ่ง ปรับเกณฑ์ดำรงเงินกองทุน “ส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิ”

ก.ล.ต เปิดรับฟังความเห็นเพื่อทบทวนเกณฑ์ดำรงกองทุนผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิ หวังส่งเสริมให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับรับความเสี่ยงจากการทำธุรกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 พ.ค.67) ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจในส่วนนิยามหนี้สินด้อยสิทธิที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุน โดยได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ขณะที่ ก.ล.ต. ได้ทบทวนหลักการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว รวมถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นการทบทวนหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.หนี้สินด้อยสิทธิ (qualified sub-debt) ที่ไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการคำนวณเงินกองทุนต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเลื่อนการชำระเงินต้นและยกเลิกหรือเลื่อนการชำระดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใดเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(ข) ผู้ประกอบธุรกิจผิดนัดชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ต่อสำนักหักบัญชีหรือต่อลูกค้าในกรณีเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผิดนัดชำระหนี้หรือส่งมอบสินค้าต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือต่อลูกค้าในกรณีเป็นการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่การผิดนัดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัญหาฐานะทางการเงินหรือการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.แล้ว

2.ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้หนี้สินด้อยสิทธิที่ออกก่อนหรือออกในวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยไม่นับเป็นหนี้สินรวมในการคำนวณเงินกองทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันทประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาเพียงพอในการปรับปรุงข้อกำหนดในสัญญาให้เป็นไปตามนิยามที่กำหนด

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งเป็นการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ โดยไม่สร้างภาระเกินจำเป็นให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

Back to top button