ASIAN บวก 4% ยันรายได้ปีนี้ 1.13 หมื่นล้าน รับแผนคุมต้นทุน-ออเดอร์เพิ่ม
ASIAN วิ่งเกือบ 4% ลุ้นรายได้ปีนี้เติบโต 18% แตะ 1.1 หมื่นล้านบาท ขานรับออเดอร์ฝั่งสหรัฐ-ยุโรปเพิ่มมากขึ้น รวมถึงแผนการคุมต้นทุนโดยการใช้โซลาร์ฟาร์ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 พ.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ณ เวลา 14:22 น. อยู่ที่ระดับ 10.50 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 3.96% สูงสุดที่ระดับ 10.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 9.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 105.67 ล้านบาท
นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ASIAN เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/67 บริษัทมีรายได้ 2,608 ล้านบาท เติบโต 14.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,272 ล้านบาท และเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า 7.10% ที่ทำได้ 2,435 ล้านบาท มาจาก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกหมึกแช่เยือกแข่งไปยังยุโรปและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า (VAP) ไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 386% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำผลงานได้เพียง 51 ล้านบาท และเติบโต 203% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 81 ล้านบาท เช่นเดียวกับอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17.50% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ 9.20% ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.40% และมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.30 บาท/หุ้น เพิ่มจากไตรมาส 1/66 ที่ 0.06 บาท/หุ้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกในไตรมาส 1/67 มีการเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5% หลังจากสถานการณ์สินค้าคงเหลือเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติและมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหลักจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่สร้างรายได้ 1,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,045 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการขายอยู่ที่ 8,169 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 7,367 ตัน ทั้งนี้ กำลังการผลิตในกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 56,000 ตัน ตั้งแต่ต้นปีจะช่วยให้บริษัทยังสามารถรองรับปริมาณคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่ไตรมาส 1/67 มีปริมาณการขายและรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้อยู่ที่ 895 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 43% จากปริมาณการขาย 2,709 ตัน เพิ่มขึ้น 44% โดยส่วนใหญ่มาจากการขายหมึกแช่เยือกแข็งและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า (VAP) ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่การเติบโตต่อของยอดขายในกลุ่มนี้ ยังคงต้องดูผลกระทบที่อาจเกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเลี้ยงกุ้งและการจับหมึก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทางยุโรปและการแข่งขันของประเทศในเรื่องมาตรฐาน ASC ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยบริษัทจะเน้นกลยุทธ์การทำตลาดในธุรกิจที่ได้อัตรากำไรขั้นต้นที่ดี พร้อมกับการรักษาระดับสินค้าคงเหลือ ทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ ซึ่งปัจจุบันใช้ประมาณ 20% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
สำหรับธุรกิจทูน่า รายได้และปริมาณการขายปรับลดลง โดยไตรมาส 1/67 มีรายได้ 208 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 41% ส่วนปริมาณการขายอยู่ที่ 1,260 ตัน แม้ว่าราคาทูน่าจะมีการปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว แต่ด้วยคำสั่งซื้อของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการเพื่อให้ประโยชน์มากที่สุดทำให้ชะลอการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าตลาดหลักจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำมีรายได้ 238 ล้านบาท จากปริมาณการขายอยู่ที่ 5,998 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยที่มีการขายอาหารกุ้งเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายอาหารปลาลดลงเพราะบริษัทชะลอการผลิตตั้งแต่ไตรมาสที่แล้ว และเริ่มกลับมาทำการตลาดใหม่ราวต้นปี 67 โดยมีการปรับปรุงคุณภาพและสูตร อีกทั้งปัจจุบันราคาต่อกิโลกรัมของวัตถุดิบหลักอย่างแป้งสาลี กากถั่วเหลือง และปลาป่น มีการปรับลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ประกอบกับที่ปีนี้บริษัทมีมาตรการสินเชื่อที่เข้มงวดและวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม ทำให้โดยรวมธุรกิจอาหารสัตว์น้ำยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี
ทั้งนี้ ไตรมาส 1/67 สัดส่วนรายได้แยกเป็นประเภทธุรกิจ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงมีสัดส่วนมากที่สุด 49% รองลงมาคือธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่ 34% ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 9% และธุรกิจทูน่า 8%
นายเอกกมล กล่าวต่อว่าปี 67 บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เดิมที่ 11,300 ล้านบาท หรือเติบโต 17.90% จากปีก่อนที่ทำได้ 9,581 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 5,400 ล้านบาท ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 3,200 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 1,600 ล้านบาท และธุรกิจทูน่า 1,100 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าอยู่ที่ 14-15% ซึ่งปรับเพิ่มจากเดิมที่คาด 12-13%
นอกจากนั้นแผนการลงทุนปี 67 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยงบลงทุนทั้งหมด 535 ล้านบาท จะนำไปใช้สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 431 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 64 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 40 ล้านบาท