BAFS ตั้งเป้าปี 67 ขนส่งน้ำมัน แตะ 5 พันล้านลิตร หลังขยายรันเวย์สุวรรณภูมิ-ท่องเที่ยวฟื้น
BAFS กางแผนปี 67 ดันขนส่งน้ำมัน เติบโต 80% แตะ 5 พันล้านลิตร รับอานิสงส์โครงการขยายรันเวย์สุวรรณภูมิ พ่วงแนวโน้มท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุน
นายจักรสนิท กฤษสะอาดใจ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงินกลุ่มบริษัท บริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 52 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 865.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 794 ล้านบาท
โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน (Aviation) ซึ่งเห็นได้จากปริมาณใช้น้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้น อาทิ ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ไตรมาส 1/2567 มีประมาณการเติมน้ำมันอยู่ที่ 1,253 ล้านลิตร เติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผนวกกับนโยบายฟรีวีซ่าจากภาครัฐฯ ทำให้มีการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทาง จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งส่งผลต่อการเติบน้ำมันของ BAFS เพิ่มขึ้น
รวมไปถึงได้แรงหนุนจากการเติบโตปริมาณขนส่งน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ของ โครงการระบบท่อส่งน้ำมันภาคเหนือ (NBPT) โดยจากการสำรวจพบว่าตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุดของบริษัท คือ ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตอยู่ที่ 72% รองลงมา คือ ทวีปยุโรป 76% และภายในประเทศที่เติบโต 79%
ส่วนผลงานในไตรมาส 1/2567 บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย BAFS ได้บรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญาณเชื่อมระบบท่อส่งน้ำมัน โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสระบุรี-อ่างทอง เข้ากับระบบคลังน้ำมันสระบุรีของกลุ่ม Thappline เพื่อขยายเส้นทางขนส่งในภาคเหนือระยะที่ 3 เส้นทางสระบุรี-อ่างทอง รวมระยะทาง 52 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะได้ข้อยุติในสัญญาการเชื่อมท่อ-ค่าเช่าพื้นที่ภายในไตรมาส 2/2567 และใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 1-2 ปี หากเป็นไปตามแผนจะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2569 ซึ่งทำให้ BAFS สามารถรองรับปริมาณการขนส่งน้ำมันได้มากกว่า 4,500 ล้านลิตรต่อปี
ขณะที่ทิศทางการขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือในปีนี้ BAFS คาดการณ์ว่าจะสามารถขนส่งได้ประมาณ 1,100 ล้านลิตร หรือคิดเป็นการเติบโตในส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) อยู่ที่ 32% ส่วนทิศทางการเติบโตในปี 2568 ประมาณการเติบโตธุรกิจขนส่งน้ำมันไปยังต่างประเทศ (อาเซียน) เติบโตอยู่ที่ 1,458 ล้านลิตร พร้อมกันนี้ในปี 2569 ภายหลังโครงการ NBPT ที่เชื่อมต่อกับกลุ่ม Thappline เปิดให้บริการจะเสริมการเติบโตในเส้นทางภาคเหนืออยู่ที่ 2,139 ล้านลิตร และเติบโตอยู่ที่ 60% สนับสนุนให้ภาพรวมระยะเวลา 3 ปี (2567-2569) จะมีการเติบโตส่วนบ่งการตลาดอยู่ที่ 36%
อย่างไรก็ตาม BAFS ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งสิ้น 3 โครงการ อาทิ โครงการโซล่ารูฟท็อป รวมกำลังผลิต 2.70 เมกะวัตต์ พร้อมกับได้ลงนามกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะการลงทุนแบบ Private PPA คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 4/2567 รวมไปถึง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้ BAFS ถือหุ้น 30% คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 3/2567 และเปิด COD ปี 2569
สุดท้ายคือโครงการลงทุน ธุรกิจโซล่าฟาร์ม กำลังการผลิต 21 เมกะวัตต์ ในประเทศมองโกเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านการออกแบบและคาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศข่าวดีให้นักลงทุนได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ความคืนหน้าการร่วมมือศึกษาการสร้างสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF Blending Facility) กับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ปัจจุบันคาดการณ์ว่าจะมีความชัดเจนในปี 2568
“ขณะที่ในไตรมาส 1/2567 BAFS INTECH Company Limited บริษัทย่อย BAFS ได้ดำเนินการผลิตรถยนต์ที่ใช้เติบน้ำมันในท่าอากาศสยาน โดยมีจุดเด่นคือการขับนเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า (EV) รายแรกของโลก ซึ่งได้นำมาใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาสใน 2/2567 บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว การเพิ่มเที่ยวบินจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น” นายจักรสนิท กล่าว
นอกจากนี้ ภาพรวมทั้งปี 2567 BAFS คาดการณ์ว่าจะสามารถขนส่งน้ำมันขึ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านลิตร เติบโต 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งสาเหตุที่จะทำให้มีการเติบโตนั้นมาจากทิศทางภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและโครงการขยายรันเวย์ที่ 3 ของ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่งก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงจะเปิดใช้งานได้ในปีนี้ โดยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง