PCC คว้างาน “ศูนย์ราชการ-กฟภ.” มูลค่า 534 ล้านบาท หนุนรายได้โตยั่งยืน

PCC คว้างานใหม่ 2 โครงการ “ศูนย์ราชการ-กฟภ.” มูลค่า 534 ล้านบาท ด้านบอสใหญ่ "กิตติ สัมฤทธิ์" CEO ประกาศกลยุทธ์ปี 2568-2570 เพิ่มขอบเขตของสินค้า-ลูกค้าใหม่ หวังสนับสนุนรายได้เติบโตยั่งยืน


นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ PCC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ย่อย 2 บริษัท ได้รับงานใหม่ 2 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 534.17 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ได้แก่ 1.บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จํากัด (PSP) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาซื้ออุปกรณ์สถานีไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง และก่อสร้างอาคารพร้อมบ่อพักและท่อร้อยสายสำหรับสถานีย่อยศูนย์ราชการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) กับ การไฟฟ้านครหลวง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 67 มูลค่าสัญญารวม 422.19 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

2.บริษัท แปซิฟิค พรอสเพอริตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ PPD ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะงานสัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้า 3 เฟส ระบบ 22 กิโลโวลท์ และ 33 กิโล โวลท์ จำนวน 433 เครื่อง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่าสัญญารวม 111.98 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

โดย PCC เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ดังนี้ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า 2. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 3. ธุรกิจลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นายกิตติ กล่าวเพิ่มว่า ในปี 67 บริษัทวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อดำเนินงานให้ได้กำไรขั้นต้นตามเป้าหมาย และวางแผนกลยุทธ์ของปี 68–70 เพื่อบรรลุในการขยายยอดขาย โดยเพิ่มขอบเขตของสินค้าใหม่และขอบเขตของลูกค้าใหม่ พร้อมทั้งขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมจากเดิมที่มีอยู่ คือ Smart Grid Digitalization เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรมคือ Bamboo-based Innovative Products และ Digitalization and Automation Solution โดยที่ทั้ง 3 อุตสาหกรรม มีการบูรณาการเชื่อมโยง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ด้วยการรับบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่แท้จริง (Intrinsic Technology) ของทั้ง 3 อุตสาหกรรม และพัฒนาความสามารถที่โดดเด่น (Distinctive Competence) ขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะ (Performance) ขององค์กรให้สูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้องค์กรรักษาการเติบโตที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ PCC ยังยึดมั่นในวิสัยทัศน์ จุดพลังแห่งความรุ่งเรืองร่วมกัน (Energizing Shared Prosperity) โดยให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ พนักงาน ผู้ถือหุ้น รวมถึงชุมชนใกล้เคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชุมชนบริเวณสถานประกอบการทุกแห่งที่บริษัทดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)” นายกิตติ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button