KTB ออกหุ้นกู้ Solactive Japan All Cap VT Index อายุ 3 ปี คุ้มครองเงินต้น 100%

KTB เปิดขาย "หุ้นกู้อนุพันธ์กรุงไทย Solactive Japan All Cap VT Index อายุ 3 ปี" คุ้มครองเงินต้น 100% เสนอขายกองทุน-รายใหญ่ 4-5 มิ.ย.67


นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารเปิดขาย “หุ้นกู้อนุพันธ์กรุงไทย Solactive Japan All Cap VT Index อายุ 3 ปี” จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงดัชนี Solactive Japan All Cap VT Index เปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนเติบโตตามมุมมองเชิงบวกของเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านดัชนี Solactive Japan All Cap VT ระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าแบบไม่จำกัด คุ้มครองเงินต้น 100% พร้อมผลตอบแทนขั้นต่ำ 0.30% ต่อปี ใน  2 ปีแรก

สำหรับหุ้นกู้อนุพันธ์กรุงไทย Solactive Japan All Cap VT Index เป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาท มีผลตอบแทนจากการลงทุนอ้างอิงการเปลี่ยนแปลงดัชนี Solactive Japan All Cap VT Index ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่อัตราการมีส่วนร่วม 100% พร้อมผลตอบแทนขั้นต่ำ 0.30% ต่อปี ในปีที่ 1 และปีที่ 2 เรทติ้ง AAA ระดับความเสี่ยงตราสาร 4 เสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เปิดจองซื้อตั้งแต่วันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 ผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

ทั้งนี้ ดัชนี Solactive Japan All Cap VT Index เป็นดัชนีอ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี Solactive GBS Japan Investable Universe Index PR ที่มีนโยบายสร้างผลงานตามการเติบโตของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ครอบคลุมสัดส่วนและปรับน้ำหนักตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่ 99% ของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ซึ่งกระจายน้ำหนักไปในหุ้นหลายตัว และในหลายอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกในอุตสาหกรรมและตัวหุ้นที่ลงทุน ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมความผันผวนของดัชนีให้ไม่เกินกว่าระดับ 8.0%

นายรวินทร์ กล่าวเพิ่มว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่น่าเข้าลงทุน ถึงแม้ว่า BOJ จะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มุมมองตลาดโดยรวมพบว่าไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้น และอาจส่งผลบวกต่อตลาด เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีภาระหนี้ต่ำและมีสัดส่วนเงินสดสูง

นอกจากนั้น หุ้นกลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์จากการที่อัตราดอกเบี้ยกลับสู่สภาวะปกติ (Normalization) จากการเติบโตของเงินกู้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ที่สูงขึ้น อีกทั้ง โครงสร้างเศรษฐกิจยังมีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่สนับสนุนการเติบโตของหุ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแท้จริงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นประกาศขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5.28% มากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี รวมถึงนโยบายการทำ Corporate Reform ที่ส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นเร่งสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น

รวมไปถึงเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลกลับเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในปัจจุบันคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติถือครองในปี 2558

Back to top button