GUNKUL เล็งปี 67 แบ็กล็อก 1 หมื่นลบ. ดันรายได้แตะ 9.5 พันล้านบาท
GUNKUL วางเป้าปี 67 แบ็กล็อกเฉียด 1 หมื่นล้านบาท หนุนเป้ารายได้แตะ 9.5 พันล้านบาท พร้อมกางแผนลุยชิงเค้กโครงการภาครัฐฯไตรมาส 2-4 ปีนี้จำนวน 5 โครงการ
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ GUNKUL เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,657 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,833.06 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 300.90 ล้านบาท ลดลง 33.80% เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 454.50 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากส่วนแบ่งกำไรโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ลดลงตามไปด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในด้านอื่นๆ มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญเนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากการก่อสร้างและการให้บริการจำนวน 1,328.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 518.04 ล้านบาท ขณะที่รายได้ส่วนงานขายสินค้าอยู่ที่ 571.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 446.63 ล้านบาท
ขณะที่ทิศทางการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 3 ปี (2567-2569) บริษัทมีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตทางยอดขายในธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง โดยปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายเติบโตอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท, ขณะที่ในปี 2568 อยู่ที่ 2,600 ล้านบาท และในปี 2569 ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 3,000 ล้านบาท หลักๆมาจากกลุ่มลูกค้า อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 46%, โครงการพลังงานหมุมเวียน (Penewable Project) อยู่ที่ 25%, การไฟฟ้านครหลวง (MEA) อยู่ที่ 20%, โครงการโซลาร์ฟาร์ม-โซล่ารูฟท็อปอยู่ที่ 9% สุดท้ายคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT อยู่ที่ 1%
“ทั้งนี้จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าแผนการเติบโตจะมาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวม 70-80% ขณะที่สินค้าที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตได้มากที่สุด 2 อันดับ คือ กลุ่มสินค้า LBS & RCS และ ฮาร์ดแวร์ (Hardware)” นายสมบูรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังคาดการณ์ว่าจะสามารถรับรู้งานในมือ (Backlog) ช่วงระยะเวลา 3 ปี (2567-2569) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการตั้งเป้าหมายรับรู้ในปี 2567 อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท, ในปี 2568 อยู่ที่ 4,400 ล้านบาท, และในปี 2569 อยู่ที่ 4,700 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันบริษัทรับรู้แบ็กล็อกแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับจำนวนที่คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นมา 4,000 ล้านบาท จะสะท้อนว่าบริษัทมีการตั้งเป้าการเติบโตในกลุ่มธุรกิจการก่อสร้างปี 2567 ประมาณ 10,000 ล้านบาท
สำหรับแบ็กล็อกจำนวน 6,000 ล้านบาท หลักๆ มาจาก 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.สายเคเบิลใต้ดิน, 2.โซลาร์ฟาร์ม, 3.สถานีไฟฟ้าย่อย (Substation), 4.สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (กฟผ.), 5.การปรับปรุงสถานีย่อยและงานควบคุมการก่อสร้าง และ 6.โครงการโซลาร์รูฟท็อป
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนในการเข้าประมูลงานช่วง 3 ปี (2567-2569) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครึ่งปีแรก 2567 มีแผนเข้าดำเนินการประมูลงานโครงการ ระบบควบคุมสถานีไฟฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์ระบบ (PEA CSCS) และ โครงการก่อสร้างสายส่งเคเบิลใต้ทะเล ระยะทาง 230 กิโลเมตร จากเกาะขนอม-เกาะสมุยโดยทั้ง 2 โครงการจะเข้าประมูลไตรมาส 2/2567 รวมมูลค่ากว่า 7,740 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2-3 ปีนี้บริษัทจะเข้าประมูล โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า ในพื้นที่ 12 เกาะ อาทิ
1.เกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี, 2.เกาะจิก จันทบุรี, 3.เกาะพยาม จังหวัดระนอง, 4.เกาะโหลน จังหวัดภูเก็ต, 5.เกาะไม้ไผ่ จังหวัดพังงา, 6.เกาะหมากน้อย จังหวัดพังงา, 7.เกาะช้าง จังหวัดระนอง, 8.เกาะนกตะเภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, 9.เกาะกระเต็น สุราษฎร์ธานี, 10.เกาะปอ,11.เกาะฮั่ง กระบี่, สุดท้าย 12.เกาะหลีเป๊ะรวมมูลค่ารวมมูลค่าโครงการอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท
ขณะที่ในไตรมาส 3-4 ปี ยังมี โครงการพัฒนาระบบไมโครกริด พื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มูลค่าโครงการ 240 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของทุกภาคส่วนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ บ้าน ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น สุดท้าย คือ โครงการ APM and Monorail มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืนหน้าโครงการโซลาร์ฟาร์มพื้นที่ จังหวัดปัตตานี สตูน และนราธิวาสกำลังรวมการผลิต 176.60 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 ปัจจุบันได้รับการรับรองเกี่ยวกับพื้นที่ตั้งตามผังเมืองเรียบร้อยแล้ว ส่วนงานขออนุญาตส่วนอื่นๆ คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จทันการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569
อย่างไรก็ตาม ทิศทางไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไปบริษัทการคาดการณ์ว่าธุรกิจพลังงานลมจะสามารถกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้จากปัจจัย ภาวะลานีญา (La Nina) ที่อาจทำให้เกิดภายุฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะส่งผลให้มีลมพัดมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงไตรมาส 3-4 โดยเป็นปัจจัยหนุนช่วยให้โครงการพลังงานลมกลับมารฟื้นตัวได้
“เรายังคาดการณ์รายได้ปีนี้ 9,500 ล้านบาท พร้อมกับคาดหวังการเติบโตอีก 7 ปีข้างหน้า (2567-2573) คาดหวังรายได้แตะ 20,000 ล้านบาท แม้สถานการณ์ Fund Flow และราคาหุ้นยังไม่ดี แต่พวกเรายังดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง วันหนึ่งเมื่อตลาดฟื้นและเป็นที่น่าสนใจ เราเชื่อว่าราคาหุ้นของเราจะได้รับการตอบสนองดียิ่งกว่านี้” นายสมบูรณ์ กล่าว