PTT ตีปีก! โรงแยกก๊าซพุ่ง-รับเอราวัณผลิตเต็ม 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
PTT ตีปีก! โรงแยกก๊าซกำลังผลิตพุ่ง รับปริมาณผลิตแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) เต็มพิกัด 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ดีมานด์ก๊าซและน้ำมันขยับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจไฟฟ้ารับมาร์จิ้นพุ่ง ต้นทุนลด โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย 38.05 บาท จาก 21 โบรกเกอร์
นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 ที่มีรายได้รวม 796,595 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 28,968 ล้านบาท หลัก ๆ ผลการดำเนินงานของ ปตท.ยังขึ้นอยู่กับราคาผลิตภัณฑ์ ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และปิโตรเคมี ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/2567
โดยเฉพาะทิศทางธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในด้านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ E&P ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยปี 2567 จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน มาจากกำลังการผลิตก๊าซในแหล่ง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้ง ปตท.สผ.ยังควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม คาดราคาขายเฉลี่ยปีนี้ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนจากสัดส่วนก๊าซฯ แหล่ง G1/61 ที่เข้ามาเพิ่มเติม
ด้านธุรกิจก๊าซฯ ปีนี้ แม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากราคา Spot LNG ที่ลดลง คาดเฉลี่ยปีนี้ 9.7-10.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ส่งผลให้มาร์จิ้นของธุรกิจก๊าซฯ ลดลง รวมทั้งต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซเป็นรูปแบบ Single Pool Gas Price แต่ด้วยราคา Spot LNG ที่ลดลง ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งดีมานด์ก๊าซฯ ในประเทศปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่จากปริมาณการผลิตจากแหล่ง G1/61 ที่สูงขึ้น จะทำให้กำลังการผลิตโรงแยกก๊าซฯ สูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้แม้ว่าขณะนี้ธุรกิจปิโตรเคมียังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ธุรกิจก๊าซฯ ต้นทุนปรับลดลง เนื่องจากราคาน้ำมัน Spot LNG ปรับลดลง แต่ ปตท.ยังมีความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซเป็นรูปแบบ Single Pool Gas ขณะเดียวกัน ปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ที่ 79-89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ธุรกิจน้ำมันปีนี้ คาดว่าปริมาณการขายจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจตามตัวเลข GDP ของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น พบว่าค่าการกลั่นยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังการผลินที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ทำให้ค่าการกลั่นปรับลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงปลายปีนี้ คาดค่าการกลั่นสิงคโปร์ (SG GRM) ปีนี้เฉลี่ย 5.7-6.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี แม้ว่าภาพรวมราคาขายผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้น แต่สเปรดยังได้รับแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตลาด คาดว่าดีมานด์จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงมาร์จิ้นมีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจใหม่ โดยธุรกิจ EV พบว่าดีมานด์รถยนต์ EV ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนธุรกิจ Life science ปตท.ยังคงรักษาระดับปริมาณการขายยา ที่จำหน่ายทั้งเอเชียและสหรัฐฯ ในระดับใกล้เคียงเดิม
สำหรับความคืบหน้าการขยายธุรกิจ EV ของกลุ่ม ปตท. หลังจากเมื่อปลายปี 2566 ได้เปิดโรงงานและเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ปัจจุบันได้มีการส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าแล้ว และได้จัดตั้งบริษัท JV เพื่อนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีแผนจะเริ่มส่งมอบในปีนี้ รวมถึงมีแผนจ้าง OEM ในประเทศไทย เพื่อผลิตและประกอบในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า และในอนาคตจะพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตเอง
นอกจากนี้ บริษัท นีโอโมบิลิตี้ เอเชีย จำกัด (Neo Mobility Asia) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Arun Plus ถือหุ้น 100% ทาง Ze Mobility Plus ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ ZEEKR (ZEEKR Dealer) และบริษัท X Mobility (Thailand) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ XPENG (XPENG Distributor) ได้เปิดตัวรถแล้ว 2 แบรนด์ดังกล่าวในงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จะเริ่มส่งมอบรถในปีนี้ ส่วนโรงงานอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568
อย่างไรก็ตามรายงานข้อมูลจาก LSEG Consensus ประมาณการรายได้รวม PTT งวดปี 2567 ที่ 3,119,964.74 ล้านบาท ประมาณการกำไรสุทธิ งวดปี 2567 ที่ 97,711.15 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 38.05 บาท จาก 21 โบรกเกอร์