LEO ส่งซิก Q2 แจ่ม รับค่าระวางเรือพุ่ง! รุกขยายธุรกิจ Non Freight-Non-Logistics เต็มสูบ

LEO ส่งซิกไตรมาส 2/67 แจ่ม รับค่าระวางเรือพุ่ง! รุกขยายฐานรายได้ธุรกิจ Non Freight และ Non-Logistics เต็มสูบ วางเป้า 3 ปีรายได้ทะลุ 500 ล้านบาท ล่าสุด “ล้านช้าง เอ็กซ์เพรส” ลุยขนส่งสินค้า "จีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย" ขบวนปฐมฤกษ์ออกจากเฉิงตูลดเวลาได้ถึง 50% มั่นใจหนุนผลงานปีนี้โตเข้าเป้า 


นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 28 พ.ค. 2567 ว่าผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวม 348.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน  โดยส่วนใหญ่มาจาก 1) การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือ 259.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75% ของรายได้รวม เนื่องจากบริษัทฯสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าเพิ่มปริมาณการขนส่ง และค่าระวางเรือมีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสถาณการณ์วิกฤตในทะเลแดง

2) การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ 19.60 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้รวม ,3) การบริการด้านบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ประกอบด้วย การขนส่ง การบริการดำเนินพิธีการศุลกากร และบริการเสริมอื่นๆ 61.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของรายได้รวม และ 4) ธุรกิจให้เช่าพื้นที่กับของขนาดเล็กและธุรกิจรับฝากตู้สินค้า ประกอบด้วยบริการให้เช่าพื้นที่เพื่อจัดเก็บสิ่งของตามความต้องการของลูกคำ การบริการพื้นที่รับฝากและซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ 6.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 ของรายได้รวมส่งผลให้กำไรสุทธิไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 10.42 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มค่าระวางเรือในปัจจุบันมีทิศทางดีขึ้น หลังดัชนี Shanghai Containerized Freight Index มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมาอยู่บริเวณ 2,500 จุด พร้อมทำนิวไฮต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การค้าของโลกดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมองเป็นโอกาสที่จะสามารถทำกำไรจากค่าบริการได้สูงขึ้น โดยมองว่าไตรมาส 2-3 ปีนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ แต่ต้องดูสถานการณ์เพราะช่วงที่ผ่านมาการส่งออกมีการชะลอตัวแต่หากสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจุบันเชื่อว่าธุรกิจขนส่งน่าจะสดใส

“มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มค่าระวางเรือช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเริ่มเห็นทิศทางการเติบโตของการส่งออกสินค้าไปยุโรปและสหรัฐต่อเนื่องจากช่วงสิ้นปีที่แล้ว ประกอบกับมีสินค้า E-Commerce ผ่านเข้ามาในไทยจำนวนมาก สะท้อนว่ากำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวและส่งผลบวกต่อการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือและทางอากาศดีขึ้น รวมทั้ง 10 ธุรกิจใหม่ที่เริ่มผลิดอกออกผลในปีนี้และปีหน้าเป็นต้นไป ดังนั้นให้นักลงทุนเชื่อมันในศักยภาพธุรกิจบริษัทจะเติบโตสดใสและยั่งยืน” นายเกตติวิทย์ กล่าว

นายเกตติวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทวางเป้ารายได้จาก 10 ธุรกิจใหม่ (Non-Freight และ Non-Logistics ภายใน 3 ปี ระหว่าง(2567-2569) ประมาณ 564.50 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 227 ล้านบาท โดยรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการลงทุน และโครงการที่ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว อาทิ โครงการ Intelligence Robotic/Cold Chain Logistics Center, โครงการ Reefer Container Leasing Business ,โครงการ LEO Self Storage Branch on Rama 4, โครงการ LEO Global Mail Solutions,โครงการ LEO sourcing & supply Chain,โครงการ Sritrang LEO Multimodal Logistics, โครงการ Green Logistics , โครงการ Avantis LEO Thailand,โครงการ LaneXang Express และ โครงการ Logi Cam LEO Cambodia

อย่างไรก็ตามมีเพียงโครงการ LEO Global Mail Solutions คาดว่าจะได้ข้อสรุปได้ภายในไตรมาส 3/2567 และเริ่มดำเนินการมีรายได้ในปี 2568 และโครงการ Green Logistics by using EV Truck/Rail Service คาดภายในไตรมาส 3-4 ปี 2567 จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนต่อเนื่องโดยอยู่ระหว่างการเจจาโครงการ M&A อีกประมาณ 2-3 โครงการ เพื่อต้องการขยายฐานรายได้ไปสู่ธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics มากขึ้น

ล่าสุดบริษัท ล้านช้าง เอ็กซ์เพรส จำกัด (LXE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง LEO, บริษัท ศรีตรัง โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด ได้รับความไว้วางใจจาก “บริษัท CRCT (China Railway Container Transport Co., Ltd.)” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรับช่วงต่อในการขนส่งขบวนสินค้าจากประเทศจีน ผ่านประเทศลาว ประเทศไทย เพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย

โดยทาง LXE ได้ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆทั้งฝั่งประเทศลาว ไทย และมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่ กรมศุลกากร การรถไฟ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในทั้ง 3 ประเทศ โดยบริษัทฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลขบวนตู้สินค้าที่มีขนาด 40HQ จำนวน 20 ตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ และจอ LCD ไปมาเลเซีย โดยเป็นการให้บริการขนส่งแบบรางต่อราง (Rail to Rail) อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับขบวนรถไฟปฐมฤกษ์สำหรับการขนส่งสินค้า จีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย ได้ออกเดินทางจากสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตู เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยบรรทุกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์, จอ LCD และ รถยนต์พลังงานใหม่ จำนวน 30 ตู้คอนเทนเนอร์ การเดินทางนี้ใช้เส้นทางรถไฟ จีน-ลาว จากนั้นเปลี่ยนไปใช้โครงข่ายรถไฟลาว-ไทย เชื่อมไปยังพอร์ตกลัง (Port Klang) ในประเทศมาเลเซีย การเดินทางด้วยเส้นทางรถไฟนี้ใช้เวลา 7 วัน จากจีนมายังประเทศลาวและไทย และอีก 8 วัน ไปยังมาเลเซีย ซึ่งช่วยลดเวลาในการขนส่งลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ จากเมืองฉินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน การเปิดตัวเส้นทางขนส่งสายใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย และส่งเสริมการเติบโตของการค้าระหว่างมณฑลเสฉวนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งธุรกิจในกลุมบริษัทให้เติบโตแข็งแกร่งในอนาคต

Company Snapshot

Back to top button