โบรกแนะ “ซื้อ” TTB-SCB ท็อปพิก ชี้กำไรแกร่ง-ปันผลสูง

โบรกเกอร์ลดน้ำหนักลงทุน “กลุ่มแบงก์ไทย” หลังมองคุณภาพสินทรัพย์-ยอดสินเชื่ออ่อนแอ คาดว่ากำไรสุทธิปี 67กลุ่มแบงก์เติบโตแค่ 1.2% แต่ยังคงแนะนำ “ซื้อ” TTB-SCB ชูท็อปพิก รับแนวโน้มกำไรแกร่ง พ่วงจ่ายปันผลสูง


บริษัทหลักทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ประเมินว่า มีมุมมองบวกต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย หลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ออกมาเรียบร้อยแล้ว โดยมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางลบ โดยเฉพาะด้านคุณภาพสินทรัพย์ และการเติบโตของสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี ยังคงเลือก ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ให้เป็นหุ้นท็อปพิกในกลุ่มธนาคาร พร้อมยกให้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นหุ้นเด่นในส่วนของอัตราเงินปันผลตอบแทนสูง

สำหรับบริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มธนาคารในเดือนเมษายน 2567 ที่บริษัทหลักทรัพย์มีการจัดทำบทวิเคราะห์นั้น ยังคงอ่อนแอ โดยยอดสินเชื่อลดลง 0.3% จากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของการเติบโตสินเชื่อ เนื่องจากบริษัทต่างๆที่ ต้องการเพิ่มเงินทุนจากปัญหาต่างๆในตลาดหุ้นกู้ ส่งผลให้ฝ่ายวิเคราะห์ค่อนข้างมีความกังวลต่อบางบริษัทที่มีกระแสเงินสดอ่อนแอ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ และบริษัทที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาด

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของกลุ่มธนาคารลดลง

โดยแม้ว่าอัตราการบริโภคของภาคเอกชนจะเติบโตอย่างมากในไตรมาส 1/67 แต่ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังระบุถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังอ่อนแออยู่ โดยหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ที่ 2.2% คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 0.37% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มผู้ผลิต และก่อสร้างที่เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียเกิดใหม่มากที่สุด ส่วนกลุ่มคอมเมิร์ซเห็นการพลิกกลับมาลดลงของหนี้เสียสูงที่สุด

นอกจากนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอจะยังคงอยู่ตลอดทั้งไตรมาส 2/67 ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3/67

อย่างไรก็ดี ยังคงให้ SCB เป็นหุ้นท็อปพิกจากอัตราปันผลตอบแทนที่ราว 7% และ TTB ที่เป็นหุ้นเด่นรองลงมาจากแนวโน้มกำไรที่สูงราว 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบยังมีอัตราปันผลตอบแทนที่ดี โดยท่ามกลางสภาวะการเติบโตของสินเชื่อ, ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ แต่ธนาคารที่มีการบริหารเงินทุนที่ดีจะสามารถมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าคู่แข่งได้

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยทิศทางคล้ายกับ KKPS ในเรื่องการเติบโตสินเชื่อที่ติดลบ และยังชี้ให้เห็นว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นเห็นอัตราการฝากเงินที่เพิ่มขึ้น 0.19% จากเดือนก่อน แต่ลดลง 0.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นผลมาจากการรับรู้เงินปันผลเนื่องจากเป็นเงินฝากกระแสรายวัน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% ในปี 2567 สาเหตุจากยังไม่มีปัจจัยเข้ามาสนับสนุน และฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยฝ่ายบริหารค่อนข้างมีความระมัดระวังในส่วนของอัตราการเติบโตสินเชื่อ ซึ่งคาดการณ์ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิไว้ราว 0% หรือติบลบ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) และต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ที่ยังคงสูง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเห็นอัตราการเติบโตของกำไรของกลุ่มธนาคารที่ดีในปี 2568 ราว 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในปี 2569 เติบโตราว 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากคาดการณ์ที่มองว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่้อจะอยู่ที่ราว 2.7% ต่อปี รวมไปถึงการเติบโตของค่าธรรมเนียมประมาน 2-4% อีกทั้งจะเห็นต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อที่ค่อยๆลดลง

ทั้งนี้ แม้ว่าฝ่ายวิเคราะห์จะคงมุมมองลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ต่อกลุ่มธนาคารไทย เนื่องจากมีโอกาสทำผลงานที่อ่อนแอในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่ยังคงเลือก TTB เป็นหุ้นท็อปพิก และให้คำแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมาย 2.19 บาท เนื่องจากมีความเสี่ยงดาวน์ไซด์ต่อกำไรที่ค่อนข้างจำกัด และยังมีอัตราปันผลตอบแทนที่ดีราว 5-6%

นอกจากนั้นแล้ว ยังให้ราคาเป้าหมายของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB อยู่ที่ 19.90 บาท และ SCB ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 120 บาท เนื่องจากเป็นหุ้นที่ดีสำหรับปันผล ส่วน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK นั้นให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 140 บาท

ขณะเดียวกัน UBS AG ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ก็ระบุในบทวิเคราะห์ถึงกลุ่มธนาคารไทย โดยชี้ให้เห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันอัตราการเติบโตสินเชื่ออยู่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยฝ่ายวิเคราะห์มองว่า KBANK และ KTB จะเป็นสองธนาคารที่สามารถควบคุมต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ ได้ดีเนื่องจากมีความสามารถในการเคลียร์หนี้เสีย และกลยุทธ์การลดความเสี่ยงสินเชื่อที่ดีกว่าธนาคารอื่นๆ

ส่วนของผลประกอบการของปี 2567 ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า KBANK, KTB และ TTB จะมีกำไรจากการดำเนินงานหลักที่ดีกว่าธนาคารอื่นๆ จากความสามารถการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดยระบุว่ายังเห็นอัพไซด์ในหุ้น KBANK ในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า โดยให้แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 145 บาท แม้ว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นมาแล้ว 13% จากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่คาดการณ์ว่าจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่อต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเริ่มปรับตัวลดลงในปีหน้า

นอกจากนี้ ยังมองว่าธนาคารที่ราคาหุ้นยังฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มเดียวกัน (Laggard) อย่าง KTB โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 19 บาท จะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาตาม KBANK ได้ในเร็วๆ นี้ และหากมองถึงการลงทุนในระยะยาว 1-3 ปีนั้น หุ้นธนาคารที่จ่ายปันผลดีอย่าง SCB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 119 บาท และ TTB แนะนำ “ซื้อ”  ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 2.10 บาท จะทำผลงานได้ดีกว่า (Outperform) หุ้นธนาคารอื่นๆ หากปัญหาเศรษฐกิจมหภาค และปัญหาโครงสร้างทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ ค่าธรรมเนียม และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ

Back to top button