EGCO อัดงบ 3 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้า-ปิดดีล QPL ดันกำลังผลิตแตะ 1 พันเมกฯ ปีนี้
EGCO กางแผนปี 67 อัดงบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้า-เร่ง COD ต่อเนื่อง ตั้งเป้าติดตั้งเสาโครงการ YUNLIN ให้ครบ 80 ต้น พร้อมเตรียมปิดดีลลูกค้ารายใหม่ QPL หนุนกำลังผลิตแตะ 1 พันเมกะวัตต์ภายในปีนี้
นางสาวจิราพร ศิริคํา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 29 พ.ค. 67 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 1,662 ล้านบาท ปรับตัวลง 360 ล้านบาท หรือลดลง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
ขณะเดียวกันจากการอ่อนค่าของเงินบาท แม้มีรายได้จากสัญญาเช่าเพิ่มขึ้น (Lease Income) ขณะที่รายได้สุทธิในงวดไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 11,360 ล้านบาท ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากบริษัทฯ มีการรักษาโรงไฟฟ้าใหญ่ๆหลายแห่ง
ขณะที่บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุนในบริษัทต่างๆ อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยแรงหนุนจากกำไรของโครงการ Paju es และโครงการพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน (Yunlin) ที่มีทยอยติดตั้งเสาเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับปริมานน้ำในโครงการพนักงานการไฟฟ้าน้ำเทิน 2 สปป.ลาว (NTPC) เพิ่มขึ้นกลับเข้าสู่ปกติ ตลอดจนได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มจากโครงการใหม่ที่บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้อย่าง CDI ในอินโดนีเซีย และ Compass ในสหรับอเมริกา ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 1,591 ล้านบาท
“อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้บริหารจัดการอัตราและเปลี่ยนและกำไรขาดทุนให้ไม่สูงเกินไป โดยพยายามปรับเงินลงทุนก่อสร้างให้สมดุลกับแหล่งรายได้ เช่น หากได้เงินปันผลมาเป็นเงินดอลลาร์ บริษัทฯ จะทำการขอกู้เงินสกุลดอลลาร์ เพื่อลดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินต่างสกุลให้มากที่สุด” นางสาวจิราพร กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ โดยวางงบลงทุนไว้ราว 30,000 ล้านบาท ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโรงฟ้าในปัจจุบัน และเร่งการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อสร้างรายได้ให้เข้ามาในบริษัทฯ โดยในปีนี้ มีความคืบหน้าหลายโครงการภายใต้การดำเนินงานของบริษัทฯ ได้แก่ โครงการ EGCO Cogen ที่ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา
ด้านโครงการ APEX ในสหรัฐอเมริกา เป็นการสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้า มีทั้งจ่ายไฟเองและขายออกไปเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้าง 8 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,335 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โซลาร์ฟาร์ม (แสงอาทิตย์) จำนวน 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 520 เมกกะวัต, วินด์ฟาร์ม (กังหันลม) จำนวน 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ และกลุ่มเทคโนโลยี battery storage จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์
“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐฯ และการลงทุนบริษัท CDI เพื่อดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคและโรงไฟฟ้าประเทศมาเลเซีย รวมถึงการที่ระดับน้ำในสปป. ลาวที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะสามารถผลักดันผลงานได้ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ ยังโฟกัสการลงทุนใน 8 ประเทศหลักที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไทย เป็นพลังงานถ่านหิน, และพลังงานหมุนเวียน รองลงมาเป็นสหรัฐฯ เป็นกลุ่มแก๊สและพลังงานหมุนเวียน, เกาหลีใต้, ลาว, ออสเตรเลีย, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ” นางสาวจิราพร กล่าว
นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า ล่าสุด บริษัทฯ ได้ติดตั้งเสากังหันลมในโครงการ YUNLIN ประเทศไต้หวันไปแล้วจำนวน 63 ต้น และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 35 ต้น โดยตั้งเป้าหมายจะติดตั้งให้ครบ 80 ต้นภายในสิ้นปี 2567 ตามแผนการดำเนินงาน และคาดการณ์ว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาสที่ 4/2567
ส่วนความคืบหน้าโครงการ Quezon Power Plant (QPL’s PSA Renewal) โรงไฟฟ้าในประเทศฟิลิปปินส์ ที่เซ็นสัญญา PPA กับผู้ซื้อไฟ “Meralco” และผู้จำหน่ายไฟฟ้ารายย่อยในฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2568 ล่าสุด บริษัทฯ ได้มีการเจรจากับผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหม่ และอยู่ในขั้นตอนหาข้อสรุป เหลือเพียงการกำหนดราคาขั้นสุดท้าย ส่วนการซื้อขายเชื้อเพลิงและถ่านหิน ก็ได้มีการเจรจากับซัพพลายเออร์ (Supplier) เรียบร้อยแล้ว
รวมถึงงานวิศวกรรมในการออกแบบเพื่อเตรียมจะปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้พร้อมเดินเครื่องหลังหมดสัญญานั้น ก็กำลังดำเนินการอยู่เช่นเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าเมื่อสัญญาหมดลง บริษัทฯ จะเดินเครื่องต่อและดำเนินการปรับปรุง เพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับสัญญาฉบับใหม่ที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2569 ซึ่งคาดการณ์จะเห็นบทสรุปสัญญาได้ภายในปี 2567
นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่มีการประมูลในประเทศ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะขยายโควตารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาส และเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอราคาหากมีการรับซื้อเข้ามา
“บริษัทฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทรนด์ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตให้ถึงเป้าหมายที่ 30% ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า โดยบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติและถ่านหินที่ช่วยลดคาร์บอน และการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนมิกซ์ ตลอดจนการมี Co-firing จากอเมริกา และมี co-firing ถ่านหินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการศึกษาธุรกิจสีเขียว เพื่อก้าวสู่การเป็น Carbon Neutral ในปี 2583 และมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2593” นางสาวจิราพร กล่าวว่าทิ้งท้าย