จับตา 31 พ.ค. ศาลอาญาทุจริตฯ นัดฟังคำสั่ง “ไตรรัตน์” ฟ้อง 5 กสทช.

ลุ้น 31 พ.ค. ศาลอาญาทุจริตฯ รับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ปม “ไตรรัตน์” เป็นโจทก์ฟ้อง กรรมการกสทช. ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ซึ่งหากรับฟ้องอาจจะขอสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสรรหาตำแหน่เลขาธิการ หรือไม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.กับพวกรวม 5 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย  รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ (รองเลขาธิการ กสทช.)  เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวหาโจทก์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ กสทช. ได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่เกิดเหตุการณ์จอดำขึ้น   จึงได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

นอกจากนี้มีรายงานความเห็นว่าโจทก์อาจจะมีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายและมติ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง จึงเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณา กรรมการทั้ง 4 ท่านจึงได้มีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และโดยที่โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน กสทช. จึงมีความจำเป็นต้องให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นการชั่วคราวไว้ก่อนในระหว่างการสอบสวน และแต่งตั้งรักษาการฯ คนใหม่ในระหว่างนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

โดยในวันที่ 31 พ.ค. 67 นี้ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าคดีมีมูลที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในการที่นายไตรรัตน์ฯ จะร้องขอให้ 4 กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เช่นเดียวกับคดีที่ทรูได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศ.ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. จากการที่สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือไปถึงผู้ประกอบการโทรทัศน์กรณีการให้บริการของ True ID และต่อมากลุ่มทรูได้มีการร้องขอให้ ดร. พิรงรอง หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. ในการพิจารณาเรื่องใดๆ ที่มีส่วนเกี่ยวของกับกลุ่มทรูทั้งหมด โดยอ้างว่าจะไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งเป็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ในวงวิชาการและในมุมของการคุ้มครองผู้บริโภคว่าเป็นการใช้กฎหมายและศาลมาเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นบุคคลที่ตนเห็นว่าจะไม่ยังประโยชน์แก่ตนหรือเรียกกันว่าเป็นการฟ้องปิดปาก

ซึ่งในกรณีการฟ้องของนายไตรรัตน์ นั้นหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า การที่ 4 กสทช. มีมติว่านายไตรรัตน์ น่าจะการดำเนินที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์ในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกด้วยเงินสนับสนุนจาก กสทช. และให้นายไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ในระหว่างที่จะมีการสอบสวนทางวินัยนั้น หากนายไตรรัตน์ เห็นว่าเป็นมติ กสทช. ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งหรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกเพิกถอนเหมือนกับกรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ แต่นายไตรรัตน์ฯ เลือกที่จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตฯ โดยตรงเพื่อขอให้ศาลลงโทษทางอาญาแก่ 4 กสทช. ซึ่งหากศาลเห็นว่าคดีมีมูลและรับฟ้องไว้  นายไตรรัตน์ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างให้ 4 กสทช. ไม่มีสิทธิพิจารณาการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ว่างเว้นมานาน โดยประธาน กสทช. จะนำชื่อนายไตรรัตน์ฯ เสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งที่ผ่านมา 4 กสทช. ได้คัดค้านมาโดยตลอด เพราะเห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว จะต้องให้กรรมการ กสทช.ทั้งหมดเป็นผู้พิจารณารายชื่อผู้สมัครเป็นเลขาธิการ กสทช. และการสรรหาที่ผ่านมา ก็จะเป็นการนำรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติทุกคนทั้งหมดมาให้ กสทช. พิจารณาร่วมกัน ฉะนั้น ในครั้งนี้ หาก 4 กสทช. ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในวาระนี้ ก็จะกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ กสทช. ที่ผู้เป็นเลขาธิการ กสทช. มาจากการนำเสนอของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว และผ่านความเห็นชอบจากกรรมการ กสทช. เพียง 3 ท่านจากจำนวนทั้งหมด 7 ท่าน

Back to top button