PKN ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 25 ล้านหุ้น เทรดตลาด mai รองรับสู่ผู้นำสินค้าลิขสิทธิ์ในอาเซียน
PKN ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน IPO ไม่เกิน 25.40 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ภายในปีนี้ รองรับแผนก้าวสู่ผู้นำด้านสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียน
นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PKN เปิดเผยว่าได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 25,400,000 หุ้น คิดเป็น 25.30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท และมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้
สำหรับ PKN ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าเพื่อการสะสม สินค้าลิมิเต็ด สินค้าพรีเมี่ยม และสินค้าลิขสิทธิ์
นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PKN เปิดเผยว่าบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและมีศักยภาพในอนาคต เช่น การเข้าซื้อกิจการ(M&A) และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา PKN ได้รับลิขสิทธิ์ทั้งจากตัวการ์ตูน คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นที่เป็นที่นิยมมากกว่า 100 คาแรคเตอร์ จากผู้ให้ลิขสิทธิ์ชั้นนำจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เช่น (1) Universal Studio Licensing เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ Minion และ Felix the cat และลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious และ Puss in Boots 2 เป็นต้น (2) Dream Express ตัวแทนในการดูแลลิขสิทธิ์ของคาแรคเตอร์จากแอนิเมชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Gundam, One Piece, Demon Slayer Kimetsu No Yaiba, Ultraman, Masked Rider และ Detective Conan เป็นต้น และ (3) The Walt Disney เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์จากภาพยนตร์ Avengers, Spider-Man และ Marvel เป็นต้น รวมถึงมีคาแรคเตอร์จากศิลปิน (Creator) ชาวไทย
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์มานานกว่า 6 ปี ทั้งสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่นำไปจัดจำหน่ายต่อหรือเป็นสินค้าส่งเสริมการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง และสำหรับลูกค้าผู้บริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้า IGNITE ที่พัฒนาและจำหน่ายภายใต้บริษัทเอง
สำหรับภาพรวมธุรกิจลิขสิทธิ์ทั่วโลกจากบทวิเคราะห์ Global and Thailand Brand Licensing Market Research 2023 (Arsta Research) พบว่า ธุรกิจลิขสิทธิ์มีมูลค่าตลาด 290.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 10.30 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4.20% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2566 – 2572 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีทบต้น (CAGR) ตั้งแต่ปี 2561-2572F เท่ากับ 3.6% โดยยอดขายปลีกทั่วโลกของสินค้าลิขสิทธิ์จะมีมูลค่าสูงถึง 389.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2572
ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) สำหรับในปี 2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 141.22 ล้านบาท ต่อมาในปี 2565 มีรายได้รวม 238.07 ล้านบาท และในปี 2566 มีรายได้รวม 252.06 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 1/2567 มีรายได้ 55.84 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทมาจาก 3 กลุ่มหลัก 1) รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) 2) รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ารายย่อย (B2C) และ 3) รายได้จากสินค้าและบริการอื่น อย่างไรก็ตามในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 13.65 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัทฯ
“บริษัทฯ มีเป้าหมายระยะยาวที่จะเป็นผู้นำด้านสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียน โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเดิมและขยายตัวไปยังลูกค้าที่มีศักยภาพใหม่ในประเทศไทยประมาณ 50% และมีสัดส่วนรายได้สินค้าลิขสิทธิ์จากการขยายไปยังลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ 10% และมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ IGNITE ผ่านช่องทางการขายแบบออฟไลน์ (ร้านค้าตัวแทนและเปิดสาขาของบริษัท) 10% และช่องทางออนไลน์ 10% และอีก 20% จะเป็นรายได้จากการขยายธุรกิจโดยการซื้อกิจการหรือร่วมทุน (M&A) ในบริษัทที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจสินค้าลิขสิทธิ์ได้อย่างมั่นคง หรือลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความบันเทิง (Entertainment) เพื่อให้เกิด Synergy ใหม่ผลักดันการเติบโตในอนาคตอย่างก้าวกระโดด” นายนพพล กล่าวทิ้งท้าย