TPCH ปิดจ๊อบขาย “หุ้นกู้” พันล้านเกลี้ยง ลุยลงทุนโรงไฟฟ้า ตปท.

TPCH ปลื้มปิดจ๊อบขาย “หุ้นกู้” มูลค่าพันล้านบาท อายุ 1 ปี 6 เดือน ดอกเบี้ย 5.50% ต่อปีหมดเกลี้ยง ลุยขยายโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ หนุนผลงานเติบโตอย่างยั่งยืน


นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า ผลการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 หุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยเสนอขายต่อสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อายุ 1 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.50% ต่อปี

โดยมีกำหนดชำระอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุของหุ้นกู้  ขณะที่มีกำหนดไถ่ถอน ปี 2568 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนและเปิดขายระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีและขายหมดเกลี้ยง ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ และมองเห็นศักยภาพการเติบโตในอนาคต

สำหรับวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อใช้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ ประมาณ 700 ล้านบาท รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ประมาณ 300 ล้านบาท

“บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกท่านที่ให้การสนับสนุน TPCH มาโดยตลอด สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นางกนกทิพย์กล่าว

ทั้งนี้ นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน TPCH มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.40 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานขยะ และบริษัทฯยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์

ขณะที่การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ บริษัทฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทพลังงานขยะ ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)  ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.90 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้ว คาดการณ์ว่าจะสามารถกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569

อีกทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.90 เมกะวัตต์ คาดการณ์ว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ในเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ โดยเริ่มที่ สปป.ลาว บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว รวมถึงMKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว

โดยปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างและได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) และมีการเซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract)) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาช่วง คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

นอกจากนี้ ส่วนของการลงทุนในประเทศกัมพูชาปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์

Back to top button