เปิดโผ 11 หุ้นรับอานิสงส์ “ดัชนี MPI” เม.ย. พลิกบวก 3.43% รอบ 19 เดือน
บล.กรุงศรี คัด 11 หุ้นรับอานิสงส์ “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม” เดือนเม.ย.67 พลิกกลับมาขยายตัว 3.43% ในรอบ 19 เดือน ชูกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มเด่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยข้อมูล ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.67 อยู่ที่ระดับ 90.34 พลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.43% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ดัชนี MPI กลับมาขยายตัวได้ เป็นผลจากฐานที่ต่ำในเดือนเม.ย. 66, การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 14%
ขณะเดียวกันด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหาร-เครื่องดื่ม และการกลั่นน้ำมัน เป็นต้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ผลดังกล่าวส่งผลให้ดัชนี MPI ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.67) เฉลี่ยหดตัว 2.06%
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.67 กลับมาขยายตัว 3.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่น มีดังนี้ 1) กลุ่มอาหาร ซึ่งมีมุมมองเป็นผลบวกต่อกลุ่มเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT,บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF
2) กลุ่มเครื่องดื่ม มีมุมมองเป็นบวกต่อ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE 3) กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ อาทิ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP 4) กลุ่มสินค้าปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ มีมุมมองบวกต่อ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)หรือ IVL
5) กลุ่มสินค้ายาง และพลาสติก อาทิ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ส่วนกลุ่มที่หดตัว คือ ยานยนต์ ซึ่งสะท้อนภาพผลกระทบการเปลี่ยนผ่านสู่ EV โลก โดยยังแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันที่ 31 พ.ค.67 ว่า จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงาน ดัชนี MPI เดือนเม.ย. เติบโต 3.43% โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ ฐานที่ต่ำในเดือนเม.ย. 66 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 14% อีกทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหาร-เครื่องดื่ม และการกลั่นน้ำมัน โดยคาดการณ์ดัชนี MPI ปี 67 หดตัวเหลือ 0-1% จากเดิม 2-3%