CGSI หั่นเป้า SET ทั้งปีเหลือ 1,480 จุด กังวลการเมือง กระทบเศรษฐกิจไทย

CGSI ปรับลดเป้าหมาย SET สิ้นปี 67 ลงเป็น 1,480 จุด มองว่า Downside risk กังวลการเมืองไม่แน่นอน เศรษฐกิจชะลอตัวลงและการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกเพิ่มขึ้น หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย


บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (5 มิ.ย.67) มองว่าคดีสำคัญทางการเมืองสามคดีอาจกลายเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดหุ้นไทยไปอีก 2-3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยคดีแรกคือคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอัยการฯ เตรียมส่งฟ้องศาลวันที่ 18 มิ.ย.67 มองว่าคดีนี้แสดงถึงรอยร้าวในรัฐบาลผสม โดยเฉพาะระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ

โดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ขาดคุณสมบัติเพราะเคยรับโทษจำคุก เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่นายกฯ เศรษฐา อาจถูกตัดสินว่ามีความผิด ซี่งกรณีนี้ชื่อว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร น่าจะขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลพิจารณา วินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพราะมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง จากความพยามในการแก้ไขมาตรา 112 ตามรายงานของ Time Magazine

จากนั้นในเดือนม.ค.67 ศาลมีคำวินิจฉัยว่าความพยายามของพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเชื่อว่าพรรคก้าวไกลอาจจะถูกยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยและ sentiment ตลาด ทางฝ่ายนักวิเคราะห์จึงปรับลดเป้าหมายดัชนี SET สิ้นปีลงเป็น 1,480 จุด ซึ่งจะเท่ากับ P/E อยู่ที่ 15 เท่าในปี 68 จากเดิมที่ 1,560 จุด

โดยมองว่า Downside risk จะมาจากความวุ่นวายทาง การเมือง, เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยบวกที่น่าจะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยคือการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาใช้อีกครั้ง, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทยและต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่แข็งแกร่ง

Back to top button