“บลูมเบิร์ก” ตีข่าว “กิตติรัตน์-ศุภวุฒิ” ตัวเต็งชิง “ประธานบอร์ด ธปท.” ดันนโยบายการเงิน
“บลูมเบิร์ก” ตีข่าวรัฐบาล “เศรษฐา” เตรียมหารือเข้าควบคุม “ธปท.” หวังผลักดันนโยบายการเงิน ดัน 2 ตัวเต็ง "กิตติรัตน์-ศุภวุฒิ” ตัวเต็งชิงเก้าอี้ “ประธานบอร์ด ธปท.” หลัง "นายปรเมธี" จะหมดวาระ ก.ย.67
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างหารือแนวทางในการควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกิดความขัดแย้งในด้านนโยบายเศรษฐกิจ โดยจะพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันมี นายปรเมธี วิมลศิริ ดำรงตำแหน่งอยู่ และจะครบวาระในเดือนก.ย.67
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตำแหน่งดังกล่าวจะไม่ได้มีอำนาจกำหนดนโยบายการเงิน แต่มีอำนาจในการประเมินผลงานของผู้ว่าการธปท. รวมถึงมีเสียงในการร่วมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
โดยตัวเต็งที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเพื่อให้เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวนั้น มี 2 ราย ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีคลัง ซึ่งผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาของ นายเศรษฐา รวมถึง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน พบว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะหมดวาระในเดือนก.ย.68 ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลจะผลักดันให้มีการเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่ ที่คาดการณ์ว่าจะยอมฟังเสียงและมีแนวคิดที่สอดคล้องกับรัฐบาลมากขึ้น ผ่านทางรัฐมนตรีคลังที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ
นอกจากนี้ บลูมเบิร์ก ยังชี้ให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่การปะทะกันครั้งแรกระหว่างธปท.กับพรรคแกนนำรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อปี 44 นายทักษิณเคยมีการสั่งปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลังไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันในปี 56 นายกิตติรัตน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้ออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเปิดเผยเพื่อให้ลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการรายงานข่าวดังกล่าว พบว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามาที่ระดับ 36.61 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับวานนี้ปิดที่ระดับ 36.60 บาท/ดอลลาร์
ด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก บลูมเบิร์ก ระบุด้วยว่า การเข้าแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทยของรัฐบาลอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับนักลงทุน ซึ่งหากรัฐบาลทำสำเสร็จอาจเห็นเม็ดเงินไหลออกจากประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
ขณะที่หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Mizuho Bank ระบุว่า ความพยายามที่จะมีอำนาจควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลในระยะยาว เนื่องจากปัจจัยบวกที่ได้จากดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะถูกแทนที่ด้วยภาระที่ต้องจ่าย risk premium สูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่า
“หากธนาคารกลางมีความเป็นอิสระในการบริการงาน จะไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อรัฐบาลด้วยเช่นกัน” หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Mizuho Bank กล่าว