“ชูซูกิ” เตรียมยุติผลิต “รถยนต์” ในไทยปี 68 มุ่งนำเข้าอีวีแทน

โบรกมองปัจจัยลบเชิง Sentiment หลังชูซูกิแจ้งยุติผลิตรถยนต์ในไทยช่วงสิ้นปี 68 ปรับแผนนำเข้ารถยนต์โรงงานใน “อาเซียน-ญี่ปุ่น-อินเดีย” มุ่งสนับสนุนรถยนต์อีวีแทน มีผลลบต่อหุ้นกลุ่มพาร์ทชิ้นส่วนยานยนต์ และหุ้นกลุ่มนิคมฯ เสี่ยงกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และถูกลดทอนความสามารถในการแข่งขันลง


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (7 มิ.ย. 67)  ว่าทาง ชูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SUZUKI มีประกาศถึงการตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทในเครือในประเทศไทย บริษัท ชูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งต่อไปนี้จะถูกเรียกว่า SMT ภายในช่วงสิ้นปี 2568 โดยการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลกตามที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีโคคาร์ตั้งแต่ปี 2550

ขณะที่ในเวลาดังกล่าว ซูซูกิได้สมัครเข้าร่วมโครงการและก่อตั้ง SMT ขึ้นในปี 2554 ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจึงได้มีการเริ่มดำเนินการผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยสามารถผลิตและส่งออกได้มากถึง 60,000 คันต่อปี ทั้งนี้ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของทั่วโลกซูซูกิได้มีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลกจึงได้ตัดสินใจยุติการดำเนินการของโรงงาน SMT ภายในช่วงสิ้นปี 2568

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการยุติการดำเนินการของโรงงานในประเทศไทย แต่ SMT จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและให้บริการหลังการขายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยต่อไป ซึ่งจะมีการปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้สอดคล้องในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐบริษัทจะมีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ รวมถึง HEVs เข้าสู่ตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สอดคล้องกับทางฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านถึงกรณีที่ SUZUKI ประกาศจะยุติการผลิตรถยนต์ในโรงงานที่ประเทศไทยช่วงสิ้นปี 2568 ว่ามองเป็นปัจจัยลบเชิง Sentiment ในหลายปัจจัย ได้แก่

1.หุ้นกลุ่มจับจ่ายใช้สอยจากแนวโน้มการเลิกจ้างงานพนักงานที่เพิ่มขึ้นซ้ำเติมจากข่าวเตรียมยุติโรงงานในไทยของ Subaru ก่อนหน้านี้, 2.เป็นแรงกดดันเชิง Sentiment ต่อหุ้นกลุ่มพาร์ทชิ้นส่วนยานยนต์, 3.เป็นแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มนิคมฯ

และ 4.การยังคงดำเนินธุรกิจอยู่แต่หลังจากปี 68 จะนำเข้ารถยนต์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมี FTA อาเซียนกับอินโดนีเซีย แต่แนวโน้มราคารถยนต์ Suzuki ในไทยอาจต้องเผชิญกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทถูกลดทอนความสามารถในการแข่งขันลง

ขณะที่ผลต่อประเทศไทยในระยะยาวการซื้อรถยนต์นำเข้าจะทำให้เสียดุลการค้ากับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะหากรุ่นยอดนิยมอย่าง Swift ในโมเดลหน้ายังทำการตลาดในไทยจะถือเป็นรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่ม B-Segment  (กลุ่มเก๋งเล็กที่มียอดขายสูงของไทย) ในค่ายญี่ปุ่นรุ่นแรกที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ทางฝ่ายนักวิเคราะห์กังวลว่าหากบริษัทอื่นเปลี่ยนมาใช้วิธีการนำเข้ารถเก๋งที่จัดอยู่ใน B-Segment จากอินโดนีเซียเพื่อมาทำตลาดในไทยมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

Back to top button