“ไทย-อินเดีย” ร่วมมือทวิภาคี หวังบรรลุเป้าหมายการค้า มูลค่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญ
รองโฆษกรัฐบาล เผย ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียก้าวหน้า เร่งสานต่อความร่วมมือทวิภาคี หวังบรรลุเป้าหมายการค้า มูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไทย และอินเดีย เปิดเผยว่า สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-อินเดีย ครั้งที่ 10 (10th Joint Commission for Bilateral Cooperation between Thailand -India) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นประธานร่วม โดยได้มีการลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย ครั้งที่ 10 (10th Joint Commission for Bilateral Cooperation between Thailand -India) แล้วใช่หรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และการลงนามในเอกสารผลลัพธ์ ตามที่ กต. เสนอ โดยสาระสำคัญของผลการประชุม เช่น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยจะพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว และเห็นพ้องให้มีการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ รวมทั้งมีประเด็นสำคัญซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการเมืองและความมั่นคง รัฐบาลไทยมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย ให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
2.ด้านเศรษฐกิจ มีการวางแผนชักชวนนักลงทุนอินเดียให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยรัฐบาลไทยกำลังพิจารณามาตรการและวางกรอบสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนอินเดียตามความเหมาะสม
3.ด้านความเชื่อมโยง โดยขณะนี้ มีโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย – เมียนมา-ไทย เป็นโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ พิจารณาประสานกับอินเดียและเมียนมาเพื่อให้มีการลงนามในความตกลงยานยนต์ถนนสามฝ่าย (IMT Motor Vehicle Agreement) และผลักดันให้เกิดการเจรจาเนื้อหาโครงการระหว่างทั้ง 3 ประเทศต่อไป โดยฝ่ายไทยประสงค์จะเจรจาเพื่อเพิ่มสิทธิ์ความจุให้แก่สายการบินพาณิชย์ของไทยในเที่ยวบินที่เดินทางไปอินเดีย
และ 4.ด้านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี
สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี จะเริ่มจากการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือ BIMSTECโดย ประเด็นที่ต้องดำเนินการ คือ ประสานกับประเทศสมาชิกฯ เพื่อกำหนดวันจัดการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกBIMSTEC สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกหลักจากประเทศด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้