ครม.เคาะร่าง MOU กลไกคาร์บอนเครดิตร่วม “ไทย-ญี่ปุ่น” มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ เผยครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือว่าด้วยกลไกเครดิตร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น มุ่งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก


นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือว่าด้วยกลไกเครดิตร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และมอบหมาย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน เป็นผู้แทนฝ่ายไทยลงนามใน (ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

โดย ทส. รายงานว่า ผลการดำเนินงานและปริมาณคาร์บอนเครดิตภายใต้ร่างความร่วมมือทวิภาคีฯ ที่ผ่านมา โครงการในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน รวม 53 โครงการ

ขณะที่ปัจจุบัน มีการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 5 โครงการ รวม 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้แบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้กับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (50% ของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง)

(ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) เพื่อส่งเสริมการลงทุน และการใช้เทคโลโลยีชั้นนำในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยคาร์บอนเครดิตส่วนหนึ่งที่เป็นผลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายใต้ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ อาจนำไปเป็นผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยุติ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือฯ โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน (ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด)

น.ส.เกณิกา กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกลไกเครดิตร่วม (JCM) ซึ่งเริ่มดำเนินงานนับแต่วันที่ 19 พ.ย.58 ว่า จะทำให้ผู้พัฒนาโครงการในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการก่อสร้าง จัดซื้อ/ ติดตั้งเครื่องจักร/ อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ทันสมัย หรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 2,855 ล้านบาท คิดเป็น 31% เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนรวม 9,084 ล้านบาท และยังทำให้เกิดการจ้างงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

โดยประเทศไทย ต้องถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการ 50% ให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทย จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ ภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับปรับแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ดังนี้

คัดเลือกโครงการที่มีคุณลักษณะครบถ้วนตามข้อกำหนดของแนวทาง และกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และผู้พัฒนาโครงการต้องได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และกำหนดให้แบ่งปันคาร์บอนเครดิตกับฝ่ายญี่ปุ่นในสัดส่วนเดียวกับสัดส่วนเงินสนับสนุนจากฝ่ายญี่ปุ่นต่อเงินลงทุนของโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทย สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย หลังจากปรับบัญชีก๊าซเรือนกระจกแล้วมีค่าลดลง

กำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการต้องขอขึ้นทะเบียนโครงการ และขอรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แทนการขอขึ้นทะเบียน และขอรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะมีการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศอื่น เป็นไปอย่างมีเอกภาพ

Back to top button