“เพื่อไทย” อภิปรายงบการศึกษา เจอ “ก้าวไกล” สวนเดือนสร้างความเหลื่อมล้ำ

เปิดฉาก อภิปรายงบ 68 วันที่สองระอุ “ลิณธิภรณ์ เพื่อไทย” ปะทะ “ปารมี ก้าวไกล” ถกงบการศึกษา ระวังความเหลื่อมล้ำทางฐานะ


วันนี้ ( 20 มิ.ย.67 ) เป็นวันที่สองของการอภิปรายงบประมาณรายงานประจำปี​ พ.ศ. 2568 บรรยากาศในช่วงเช้านี้ เปิดการอภิปรายด้วย ประเด็นการจัดการงบประมาณในภาคส่วนของการศึกษา โดย น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)  อภิปรายในประเด็นดังกล่าว ว่า

รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการจัดการงบประมาณด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยเชื่อมข้อมูลทะเบียนนักเรียนและฐานข้อมูลการปกครองรายบุคคล เพื่อนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นผ่านกองทุน กสศ. โดยรัฐบาลอนุมัติงบฯ กว่า 6,983 ล้านบาท

น.ส.ลิณธิภรณ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่างบฯ ที่ได้จัดสรรให้กสศ. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนกว่า 146,059 คน และรัฐบาลได้อนุมัติเงินสนับสนุนรายจ่ายเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 5,964 ล้านบาท และในปี 68 รัฐบาลได้เพิ่มงบฯ ในส่วนความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่และนานาชาติเป็นเงิน 315 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งการลดภาระและเพิ่มขวัญและกำลังใจครูผู้สอน โดยเพิ่มฝ่ายสนับสนุนและบรรเทาด้านอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มภารโรงในทุกโรงเรียนกว่า 25,370 อัตรา โดยใช้งบฯ ไป 2,739.96 ล้านบาท และการแก้ปัญหาหนี้สินให้ครูอีก 100 ล้านบาท

ในส่วนกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อประชาชน รัฐบาลได้กำหนดงบฯ ให้กยศ.เป็นเงิน 800 ล้านบาท และกำหนดให้มีเงินอุดหนุนนนอกงบประมาณอีก 42,987 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแก้ไขร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2566 แก้ไขในดอกเบี้ยให้ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และปรับลดเบี้ยปรับให้ไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ผู้กู้ยืม โดยสามารถกู้เรียนหลักสูตรระยะสั้นได้ มีทุนการศึกษา ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้รัฐบาลได้มีการเจรจาผ่อนผันหนี้จากผู้กู้ยืมหนี้สินในปี 67 กว่า 6 หมื่นคน ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้อีก 15 ปี

“ทักษะความรู้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุด ที่ไม่มีใครพรากไปจากลูกหลานของเราได้ตลอดชีวิต ทุกลมหายใจคนรุ่นใหม่ที่รัฐบาลจะลงทุนปลูกฝังไปนี้ สามารถเปลี่ยนชีวิต ครอบครัว สังคม และโลกใบนี้ได้ ดังนั้น ใบเบิกทางที่ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2568 จะขับเคลื่อนให้เด็กไทยทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่า สำหรับอนาคตของประเทศชาติของเราต่อไป” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวกล่าว

ขณะที่ นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายโต้กลับ น.ส.ลิณธิภรณ์ ว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดงบด้านการศึกษาปี 68  การจัดงบแบบนี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่สามารถโอบรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาได้หมด รัฐบาลได้ดูข้อมูลหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีเด็กหลุดระบบการศึกษาจำนวนเท่าไหร่ และ จะจัดงบประมาณด้านการศึกษาอย่างไรให้สอดคล้องในการแก้ไขปัญหา หากรัฐบาลไม่ทราบ ตนจะบอกให้ว่า ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า มีเด็กหลุดระบบการศึกษา จำนวน 1.02 ล้านคน สาเหตุที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษา คือ ความยากจน

นายปารมี  กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้ คือ จัดงบประมาณให้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะ ขณะนี้ กยศ. กำลังประสบปัญหาเสี่ยงขาดสภาพคล่อง แต่ไม่ได้รับงบ โดย กยศ. ส่งคำของบมายังรัฐบาล จำนวน 19,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับให้งบกลับไปแค่ 800 ล้านบาท  หากจะให้ตนเสนอข้อเสนอแนะในการจัดการงบด้านการศึกษา ตนขอเสนอ 6 ข้อเสนอถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้แก่

1.ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบอย่างเร่งด่วน จัดสรรงบประมาณให้ กสศ.เพื่อให้ดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้จริง

2.การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟรีจริง

3.เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจครูให้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก

4.ปฏิรูปหลักสูตรและการศึกษาไร้รอยต่อ

5.อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ามามหาวิทยาลัยระบบ TCAS

6.จัดงบประมาณให้กยศ. อย่างเพียงพอ

นายปารมี กล่าวด้วยว่า การลดความเหลื่อมล้ำทั้ง 6 ด้าน ที่กล่าวไปเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งที่จะได้รับการศึกษาที่ดี และมีคุณภาพจะเป็นบันไดสำคัญที่นำไปสู่รายได้ และโอกาสของชีวิตที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดจากวังวนแห่งความยากจนซ้ำซาก หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐ จะไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กคนหนึ่ง แต่จะเป็นปัญหาสังคมอื่นที่ตามมามากมาย จึงไม่เห็นด้วยกับการจัดงบปี 68 ที่เพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หวังให้รัฐบาลจัดใหม่ เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำหมดสิ้น ไม่ให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบ และครูมีคุณภาพเสมอภาค

Back to top button