ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ไทยปี 67 โตเหลือ 2.6% เหตุรัฐใช่จ่ายต่ำ-ส่งออกฟื้นช้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 67 โตเหลือ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ เตือน 3 ปัจจัยกระทบภาคอุตสาหกรรม จากการลงทุน ,การใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด และส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 มิ.ย. 67) นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง พ.ศ.2567 ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี พ.ศ.2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย

ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยสรุปภาพรวมทั้งปี พ.ศ.2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การว่า ขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมตามการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยในครึ่งปีแรกเติบโต 1.6% มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

ขณะที่ ทางด้าน นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทย โดยให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ได้แก่

  1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง
  2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก
  3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

Back to top button