คัด 9 หุ้นเด่นรับ “ส่งออก” โต 7.2% โบรกชู NER-ITC-CPF ท็อปพิก

“บล.กรุงศรี” คัด 9 หุ้นเด่น รับข่าวดี “ส่งออกไทย” เดือน พ.ค.ขยายตัว 7.2% ดันมูลค่ารวมช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ระดับ 1.20 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมชู NER-ITC-CPF โดดเด่น


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูล ภายหลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. มีมูลค่า 26,219.50 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 24,920.30 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,641 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 67 การส่งออกมีมูลค่า 120,493.40 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.60% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 การนำเข้า มีมูลค่า 125,954.10 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.50% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 67 ขาดดุล 5,460.70 ล้านดอลลาร์

ด้าน บล.กรุงศรี จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์แนะนำหุ้นกลุ่มสินค้าส่งออกที่โดดเด่นในเดือน พ.ค.67 ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 8 เดือนติด (เพิ่มขึ้น 39.20% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 29.60% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 67) ส่งผลบวกต่อ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI และ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC

ด้านราคา “ยาง” ขยายตัว 7 เดือนติด (โต 46.60% จากปีก่อน, และโต 30.90% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 67) ส่งผลบวกต่อ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และบวกต่อกลุ่มอิงกำลังซื้อฐานราก และหุ้นเชื่อมโยงกับยาง อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA

ส่วนราคาไก่แปรรูปขยายตัว 3 เดือนติด (เพิ่มขึ้น 10.20% จากปีก่อน, เติบโต 6.7% จากช่วง 5 เดือนแรกของปี 67) ส่งผลบวกต่อ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

ขณะที่สิ่งปรุงรสอาหารขยายตัว 11 เดือนติด (เติบโต 6% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 13.50% จากช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้) ส่งผลบวกต่อ บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO

อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ ตลาดที่ขยายตัวเร่งขึ้น คือ จีน, สหรัฐฯ อาเซียน ทำให้ระยะถัดไปประเมินยังคาดหวัง Upside การส่งออกจากการฟื้นตัวจีนเริ่มชัดขึ้น ขณะที่ยอดนำเข้าพลิกติดลบเล็กน้อยที่ 1.70% จากปีก่อน หนุนเดือนนี้ไทยพลิกกลับมาเกินดุลการค้า 625  ล้านเหรียญฯ มองเป็นจิตวิทยาหนุนค่าเงินบาท/ดอลลาร์แข็งค่า

Back to top button