เปิดเบื้องหลังจับ “ชนินทร์” คีย์แมนสำคัญคดี “STARK” หลบหนี ตปท.กว่า 8 เดือน
รัฐบาลแถลงเบื้องหลังการจับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคนสำคัญคดี STARK หลังใช้เวลากว่า 8 เดือนจนสามารถจบกุมตัวได้ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นายจักรพงศ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการจับกุมนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ผู้ต้องหาคดีทุจริตตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ที่ถูกจับกุมตัวได้ ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ว่า ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวเข้ามาในประเทศแล้วตั้งแต่ 8:00 น.วันนี้ (23 มิ.ย.)
นายจักรพงศ์ เปิดเผยว่า การจับกุมตัวครั้งนี้เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานของทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และถือเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องต้องระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก ส่วนกระบวนการยุติธรรม คาดว่าในบ่ายวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.67) จะรู้ผลว่าผู้ต้องหาจะได้ประกันตัวหรือไม่ หลังอัยการนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล โดยการคัดค้านประกันตัวนั้น พนักงานสอบสวนมีหน้าที่คัดค้าน แต่อยู่ในอำนาจของศาลเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ จากการพูดคุยเบื้องต้นกับผู้ต้องหา พบว่าสาเหตุที่มีการหลบหนีเนื่องจากผู้ต้องหากังวลด้านความปลอดภัยเนื่องจากเคยโดนขู่ประทุษร้าย ส่วนเรื่องวงเงินความเสียหายและการเรียกร้องนำเงินคืนมาจากผู้ต้องหาที่นำออกนอกประเทศ มอบหมายให้หน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดูแลดำเนินการต่อไป
นายจักรพงศ์ ยังระบุอีกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับคดี STARK และนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษให้ได้ โดยเฉพาะการนำตัว นายชนินทร์ กลับมาที่ประเทศไทยให้เร็วที่สุด เนื่องจากคดีนี้มีผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยมีการเร่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงตุลาคมปีที่แล้ว จนสามารถนำตัวกลับมาได้แล้วในวันนี้ ภายในระยะเวลา 8 เดือน ภายใต้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยตนได้เดินทางเป็นการส่วนตัวไป UAE ถึง 2 ครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า เนื่องจากมีความยากลำบากในการนำตัวผู้ต้องหาข้ามแดน ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
สำหรับการดำเนินการกล่าวโทษนายชนินทร์นั้น จะเป็นไปตามกระบวนการ หลังจากที่นำตัวไปยัง DSI เพื่อทำการลงบันทึกข้อมูลให้เรีบยร้อย และคาดว่าบ่ายวันนี้จะมีการให้รายละเอียดได้เพิ่มมากขึ้นในเรื่องของคดี โดยการแถลงในครั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอย่างมาก โดยเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดีการใช้ชีวิตของนายชนินทร์ที่ UAE นั้น นายจักรพงศ์ ระบุว่า ได้ใช้พาสปอร์ตแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป
ในส่วนของการแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นนายชนินทร์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้รัฐดูแลเรื่องความปลอดภัยของนายชนินทร์ จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย. 67) จะคุมตัวนายชนินทร์ ไปส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ ณ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก ตามขั้นตอน
ด้านนายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความของ นายชนินทร์ เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการนำตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ DSI ว่าจะให้การปฏิเสธหรือรับสารภาพ โดยตนไม่ทราบถึงขั้นตอนว่าจะกุมตัวไว้ หรือจะฝากขังศาลในวันพรุ่งนี้เลย สำหรับการหลบหนี ทนายกล่าวว่า นายชนิทร์ไม่ได้อยากหลบหนี และอยากกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อสู้คดี
โดยนายชนินทร์บอกว่าไม่ได้กระทำความผิด โดยข่าวลือที่มีการนำเงิน 8 พันล้านบาทไปที่ประเทศอังกฤษ นายชนินทร์บอกว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ส่วนการจับกุมตัววันนี้มองว่าเป็นการขอมอบตัวของนาบชนินทร์กับทางตำรวจดูไบเพื่อขอกลับประเทศไทยมากกว่าการจับคุมตัว
โดยขณะที่อยู่เมืองไทยนายชนินทร์โดนคุกคามด้านความปลอดภัย และมีการข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นใคร โดยก่อนหน้านี้นายศรัทธา ได้ให้การว่าถูกคุมคามเช่นเดียวกัน แต่ตนไม่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเป็นการคุกคามแบบเดียวกันกับนายชนินทร์ จึงส่งผลให้ต้องออกไปอยู่ที่ต่างประเทศ
สำหรับการขอประกันตัว ยังไม่ได้มีการเตรียมหลักทรัพย์ไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่กะทันหัน โดยจะทำตามขั้นตอนของศาลต่อไป และไม่ได้มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนแต่อย่างใด
ในส่วนของการติดต่อกันระหว่างที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศนั้น นายเรืองศักดิ์ เปิดเผยว่า ตนไม่ได้ติดต่อกับทางนายชนินทร์ มีแค่ครอบครัวของนายชนินทร์ที่ทำการติดต่อกัน และได้มีการบินไปหา ซึ่งตนได้ข้อมูลจากทางครอบครัวของนายชนินทร์
สำหรับการร้องขอความเป็นธรรมนายชนินทร์ ตอนที่อยู่ต่างประเทศนายชนินทร์ได้ทำคำร้องส่งมา ให้ตนไปยื่นต่อ DSI และอัยการ โดยทาง DSI และอัยการรับเรื่องไว้ แต่จะไม่พิจารณาให้เนื่องจากต้องให้ นายชนินทร์เข้ายื่นเรื่องด้วยตนเอง
ทั้งนี้ตนได้ตั้งข้อสังเกตในการฟ้องแค่บางบุคคลในคดีดังกล่าว เนื่องจากมีข้อหาเดียวกัน คดีเดียวกัน เส้นทางการเงินเหมือนกันกับนายชนินทร์ แต่ไม่ได้โดนฟ้อง ซึ่งตนมองว่าจะต้องมีเหตุผลเรื่องดังกล่าว และจะนำข้อเท็จจริงข้างต้นมาต่อสู้คดีของนายชนินทร์ต่อไป