มหากาพย์ STARK จากก.ล.ต. ถึง DSI จับกุม “ชนินทร์” ส่งไปอัยการสู่ศาลอาญา
เปิดมหากาพย์! STARK จากก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล 10 ราย กรณีเกี่ยวโยงตกแต่งงบการเงินของบริษัท ส่งถึง DSI ไปสู่ขบวนการเข้าจับกุม “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แล้วส่งตัวไปอัยการสู่ศาลอาญาต่อไป
จุดเริ่มต้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นับตั้งแต่ปี 2562 เข้าตลาดหุ้นด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Back-door Listing) ผ่านบริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดย STARK เป็น Holding Company มีบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักคือบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้เป็นผลิตสายไฟและสายเคเบิล สัญชาติอเมริกา
รวมถึงบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายไฟฟ้าตัวนำทองแดงและอลูมิเนียมมาตรฐานระดับสากลและ Thinh Phat Electric Cable Joint Stock Company ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ แห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดยการบริหารจัดการดำเนินธุรกิจผ่าน นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ร่วมด้วย นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) และยังเป็นเลขาคนสนิทของ “ชนินทร์” และยังมี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ในช่วงเวลาการบริหารดังกล่าวในระยะเวลาปี 2562-2564 บริษัท STARK ก็ดูเหมือนจะมีผลประกอบการที่ดีมาตลอด บริษัทเริ่ม “พลิกกำไร” จนในปี 2562 มีรายได้ 11,607.71 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้ 16,917.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,608.66 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายได้ 27,129.64 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,783.11 ล้านบาท ทำให้ STARK เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จนเป็นที่สนใจของนักลงทุนรายใหญ่ และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกับกับหุ้นกู้ STARK ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ BBB+ จากทาง “ทริส เรทติ้ง” ทำให้ STARK มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้มากถึง 9,100 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นกู้มากกว่า 4,500 ราย
ผลดังกล่าวทำให้กลุ่มบริหารคิดการใหญ่ที่เรียกว่า “แผนล่าปลาวาฬ” นั่นคือมีการเสนอขายหุ้น STRAK จากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แต่ทว่าแผนขายหุ้นดังกล่าวต้องยุติลง เมื่อบอร์ดบริหารความเสี่ยงไม่เห็นชอบเรื่องดังกล่าว
และแล้วจากนั้นจึงเบี่ยงเบนไปสู่ “ดีลเบอร์ลิน” นั้นคือการเข้าซื้อ LEONI Kabel GmbH บริษัทผลิตเคเบิลใยแก้ว สัญชาติเยอรมัน มูลค่าการซื้อขายรวม 560 ล้านยูโร หรือกว่า 20,588 ล้านบาท นั่นเห็นให้ STARK เพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมมูลค่า 5,580 ล้านบาท ให้กับกองทุนและนิติบุคคลรวม 12 แห่ง เพื่อเข้าทำรายการดังกล่าว แต่สุดท้าย “ดีลเบอร์ลิน” มันต้องล่มไปเช่นเดิม
ผ่านไปไม่นาน STARK ไม่สามารถรายงานงบการเงินปี 2565 ตามกำหนดได้ ทำให้พบว่าตัวเลขกำไรของ STARK ช่วงปี 2563-2565 เกิดจากตกแต่งบัญชีและธุรกรรมอำพราง…เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับหุ้น STARK และสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว
สำหรับการแต่งบัญชีปี 2563-2565 เกิดขึ้นภายใต้ผลประโยชน์ของสำคัญ 3 ราย การตกแต่งบัญชีสร้างยอดขายปลอม ต้องมีการนำเงินจากธุรกิจอื่นมาชำระ ด้วยใช้บัญชีของผู้บริหารด้านการเงิน (CFO) เป็นทางผ่าน…พิสูจน์จากการตรวจสอบของ PWC (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ในงบการเงินปี 2565
จากนั้นช่วงเดือนเมษายน 2566 เหตุการณ์เริ่มส่อแววน่าสงสัยมากยิ่งขึ้น เมื่อกรรมการบริหารบริษัท 7 คนพร้อมใจกันลาออก รวมถึงแจ้งเปลี่ยนแปลง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี พร้อมกับการขอเลื่อนส่งงบการเงินเป็นครั้งที่ 3 (เป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566) และสุดท้ายวันที่ 26 เมษายน 2566 ทาง STARK ออกมาเปิดเผยว่า หุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 5 ชุด รวมมูลค่า 9,100 ล้านบาท
โดยเงินเพิ่มทุน PP จำนวน 5,580 ล้านบาท มีการนำมาหมุนจ่ายหนี้ธนาคาร ถือว่าผิดวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน ส่วนเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ประมาณ 9,100 ล้านบาท ตามสัญญาต้องชำระค่าหุ้นกู้ให้ธนาคารก่อน ดังนั้นเงินที่ได้จากหุ้นกู้ได้มีการไปชำระธนาคารประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 STARK แจ้งผลประกอบการปี 2565 และปี 2564 ที่ผ่านการตรวจสอบบัญชีใหม่ โดยปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 5,989 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิต ทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกันรวมถึงขาดทุนจากสินค้าสูญหาย แม้ปี 2565 จะมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,609 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.57% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 19,055 ล้านบาท
โดยปี 2564 STARK มีผลขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท จากเดิมแจ้งว่ามีกำไรสุทธิ 2,794 ล้านบาท และมีรายได้ 19,055 ล้านบาท จากเดิมแจ้งว่ามีรายได้ 25,213 ล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นปี 2565 ติดลบ 4,403 ล้านบาท จากปี 2564 ตามบัญชีแก้ไขใหม่ติดลบ 2,844 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงานและการปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดแต่ละปี…
“เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเหล่านี้ ทำให้ราคาหุ้นของ STARK ร่วงลงอย่างรวดเร็ว และถูกติดเครื่องหมาย C ในวันที่ 18 พ.ค. 2565 ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง และสั่งให้มีการตรวจสอบการเงินเป็นกรณีพิเศษ (special audit)”
ด้วยกระบวนการตกแต่งบัญชีและธุรกรรมอำพรางที่เกิดขึ้นข้างต้นของ STARK ส่งผลให้เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล 10 รายคือ 1) บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK 2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5)นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6)นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม
7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสาร STARK และบริษัทย่อยช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
จากนั้นวันที่ 30 ต.ค. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สรุปสำนวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 10 รายตามที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษฯ และแจ้งข้อกล่าวหามีเพิ่มอีก 1 รายคือนางสาวยสบวร อำมฤต (ลูกน้องนายศรัทธา) รวมแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสิ้น 11 ราย
ต่อมาวันที่ 12 ม.ค.2567 พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริต STARK จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1)นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 2)บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) หรือ STARK 3)บริษัท เฟิลปส์ คอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 4)บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 5)บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 6)บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 7)น.ส.นาตยา ปราบเพชร
ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงินและฐานฉ้อโกงประชาชนข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน และนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย ส่งศาลอาญา โดยศาลอาญาประทับรับฟ้องคดีทุจริต STARK เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.90/2567
ถัดมาวันที่ 9 ก.พ.2567 สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีทุจริต STARK เพิ่มเติมอีก 2 ราย นางสาวยสบวร อำมฤตและนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ และศาลอาญารับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.433/2567
จากนั้นวันที่ 12 ก.พ.2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้คุมตัวนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อส่งฟ้องศาลอาญาในความผิดฐานเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่น ได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยศาลอาญามีคำสั่งประทับฟ้องเป็นคดีหมาย เลขดำที่ อ.441/2567
จนมาถึงวันนี้ 23 มิ.ย.2567 นายจักรพงศ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่ถูกจับกุมตัวได้โดยหน่วยงานของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ
โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมด้วย สืบเนื่องจากคดีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษกรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง ซึ่งการดำเนินการกรณีนี้จะมีการควบคุมตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนจะถูกส่งตัวให้พนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญาต่อไป
ในวันเดียวกัน 23 มิ.ย. 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยหลังการติดตามความคืบหน้า การควบคุมตัวและสอบสวน นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริหาร STARK และเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี STARKที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชนโดยเฉพาะในเรื่องของตลาดทุนไทย และเป็นคดีสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจ ซึ่งทันทีที่นายชนินทร์มาถึงประเทศไทย ได้มีการเขียนบันทึกการจับกุม ตามขั้นตอนของกฎหมาย
โดยในส่วนของ DSI พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการแผนกคดีพิเศษ และมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายชนินทร์ ในจำนวน 6 ข้อหาสำคัญ ซึ่งมีทั้งความผิดตามกฎหมายอาญา คือการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เกี่ยวกับการลงบัญชีเท็จ, ผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ระมัดระวัง เป็นผู้บริหารทุจริต และความผิดฐานฟอกเงิน
เนื่องจากอัยการได้เห็นสมควรสั่งฟ้องแล้ว ในหลักการคือพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการสอบปากคำ ซึ่งทราบจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ทั้ง 6 ข้อหาใหญ่ให้ผู้ต้องหารับทราบแล้วซึ่งในแต่ละข้อหามีหลายกรรม โดยรวมๆ เป็นร้อยกรรม ซึ่งหลังจากแจ้งข้อหาแล้วจะเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่าจะให้การหรือไม่ โดยไม่ขอบอกรายละเอียดในส่วนดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หากกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นในวันนี้ตามหลักการวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.67) พนักงานสอบสวนต้องนำตัวนายชนินทร์ ไปส่งฟ้องกับพนักงงานอัยการ เพื่อจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยเป็นที่ทราบดีว่ากรณีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท และมีผู้เสียหายกว่า 4,072 ราย ซึ่งมีทั้งสถาบันการเงิน และนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้
สำหรับความเสียหายในจำนวน 14,778 ล้านบาท ทางปปง.ได้ตามเงินได้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่ยังต้องติดตามต่อไป โดยมีความเป็นห่วงผู้เสียหายเนื่องจากต้องสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในส่วนของการบรรเทาความเสียหายนั้นจะดำเนินการติดตามเงินต่อไป โดยขอให้ DSI, ปปง., อัยการ และกระทรวงการต่างประเทศช่วยติดตามในส่วนดังกล่าว โดยมองว่าอาจจะเป็นอุทาหรณ์ในอนาคต ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มีการประกันตัว โดยวันนี้ได้จับกุมครบแล้ว สำหรับคดีเดิมจะเริ่มมีการพิจารณาในวันที่ 14 ม.ค.68 โดยได้มีการตรวจสำนวนและหลักฐานแล้ว ซึ่งเมื่อได้ตัวนายชนินทร์แล้ว โดยตามปกติอัยการมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง และอาจจะมีการรวมสำนวน ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางพนักงงานสอบสวนจะต้องประสานงานกับ พนักงานอัยการต่อไป