“พิชัย” จี้ “แบงก์ชาติ” ร่วมมือรัฐ แก้ไขปัญหาปากท้องปชช.

พิชัย เผยความสามารถแข่งขันของไทยดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องเร่งแก้ไข ติงแบก์ชาติ ไม่ช่วยรัฐบาล ช่วยเหลือปากท้องประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 24 มิ.ย.67 ) นายพิขัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจฯ เปิดเผยว่า สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ขึ้นมา 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 และ เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม แม้ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่และยังมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ต่อไปอีก ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลานาน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำมากมาเป็น 10 ปี ทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายเพิ่ม เป็นผลทำให้หนี้สินพุ่งสูง ดังนั้น การจะแก้ไขโดยเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ คงเป็นไปไม่ได้

โดยหนี้ครัวเรือนก็พุ่งเกิน 90% ของจีดี และปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% และหนี้สาธารณะสูงถึง 63.78% อีกทั้งปัญหาหนี้เสียในระบบกำลังจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยเตือนตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาว่าปัญหาหนี้สินจะเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้สินจึงเป็นเรื่องหลัก และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายพิชัย กล่าวต่ออีกว่า ผู้ว่าฯ ธปท.ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่ เข้าใจไม่ตรงกัน และท่านผู้ว่าฯน่าจะไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน เช่น การขยายกรอบเงินเฟ้อซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.เห็นว่าดีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลอยากจะขยายกรอบเงินเฟ้อให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ เพราะปีที่แล้วเงินเฟ้อไทยต่ำลงมากตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2566 เหลือเพียง 0.53% จากเดือนมกราคม 2566 ที่มีเงินเฟ้อสูงถึง 5.02% และต่ำมาตลอด หลังจากนั้นคือ มิ.ย. 66 ที่ 0.23% ก.ค. 66 ที่ 0.35% ส.ค. 66 ที่ 0.88% และ ก.ย. 66 ที่ 0.30%

จนเงินเฟ้อมาติดลบในเดือนตุลาคม 66 ที่ -0.31% และ ติดลบต่อไปจนทั้งหมด 6 เดือน คือ พ.ย. 66 -0.44% ธ.ค. 66 ที่ -0.83% ข้ามปีมายังติดลบ ม.ค. 67 ที่ -1.11% ก.พ. 67 ที่ -0.77% มี.ค. -0.47% ดังนั้น ที่เงินเฟ้อมาบวกในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ 1.54% ก็เพราะปีที่แล้วต่ำมากนั่นเอง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบวกไปถึงสิ้นปีถึงต้นปี’68 เพราะมาจากเงินเฟ้อตั้งแต่กลางปีที่แล้วต่ำถึงติดลบ

ดังนั้น กรอบการขยายตัวเงินเฟ้อจึงควรสูงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งอย่านำกรอบเงินเฟ้อของประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาแบบไทย เพราะเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งที่ผ่านมากว่า 10 ปี เงินเฟ้อของไทยยังน้อยกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐมาก นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ และประเทศในอาเซียนที่ขยายตัวสูงก็มีเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทยมาก

“ ผู้ว่าฯ ธปท.จะต้องเข้าใจว่า ธปท.ไม่ใช่มีบทบาทแค่กำกับควบคุมอย่างเดียว แต่จะต้องมีบทบาทในการสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาและเศรษฐกิจไทยขยายตัวให้มากขึ้นด้วย เหมือนที่ธนาคารกลางประเทศอื่นทำ แม้แต่ในสหรัฐ ผู้ว่าฯธปท.น่าจะทราบดีว่านโยบายการเงินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ มากกว่านโยบายการคลัง” นายพิชัย กล่าว

ส่วนผลงานของ ธปท.ที่สนับสนุนเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นอย่างไรนั้น นายพิชัย มองว่า คงต้องประเมินภายหลัง แต่หากประเมินคร่าวๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ประเทศอื่นเขาฟื้นไปไกลขยายเกินไป 15-20% กันแล้ว หากรวบรวมเก็บข้อมูล BigData ของ ธปท.เทียบกับ ธนาคารกลางของเหล่าประเทศคู่แข่งของไทย และตรวจสอบด้วย Ai ก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ธปท.มีประสิทธิภาพขนาดไหนเมื่อเทียบกับธนาคารกลางของประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะได้คำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงได้ย่ำแย่กว่าประเทศคู่แข่งมาก

Back to top button