ส่องอนาคต! ธุรกิจ TV ยังมีอนาคต อีกหรือไม่?

ธุรกิจ TV อนาคตอยู่ตรงไหน หลังปี 2572 ใบอนุญาตหมดอายุ


ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงสื่อสารมวลชน ได้รับทราบข่าวสาร เกี่ยวกับการเลิกจ้าง-ปลดพนักงานที่อยู่ในฝ่ายผลิต-กองบรรณาธิการข่าว -ฝ่ายรายการของทีวีดิจิทัลหลายช่อง ทั้งที่เป็นข่าวรวมถึงที่ไม่เป็นข่าวแต่เป็นที่รู้กันในแวดวงที่ออกมาหลายระลอก ตลอดจนการเลิกธุรกิจของกิจการสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมบางแห่ง

โดยเป็นสิ่งที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามจากผู้คนในแวดวงสื่อมวลชนและคนภายนอกวงการไม่น้อยว่า “ธุรกิจทีวี” ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอีกประมาณ ห้าปีหลังจากนี้ เมื่อใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลของทุกช่องจะหมดอายุในปี พ.ศ. 2572

ล่าสุด มีคำสัมภาษณ์ของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ว่า ในโลกที่ผู้บริโภค รับชมสื่อผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นหลัก ทางกสทช.ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล OTT สอดคล้องกับ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ คือ เพื่อประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม และ มีมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ เรายังต้องส่งเสริมการแข่งขันของผู้ให้บริการในตลาดให้มีความเป็นธรรมและเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาบริการยิ่งๆขึ้นไปด้วย ดังนั้น ต้องย้ำว่า กสทช. ไม่ได้มุ่งจำกัดการแข่งขัน แต่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เป็นธรรม พร้อมๆ ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภค การจะออกกฎระเบียบต่างๆ จึงเป็นในลักษณะ “กำกับเท่าที่จำเป็น” (light touch) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความอยู่รอดของกิจการสื่อมีหลายปัจจัย กสทช. คงไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีมีการปลดหรือเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นอีก เพราะ ธุรกิจ ต้องปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ

เด็กนิเทศฯ ต้องปรับตัว เมื่อหมดยุคเฟื่องฟูสื่อ TV

เหตุผลสำคัญที่เม็ดเงินโฆษณาของทีวีหลายช่องหดหายและไม่ได้ทำกำไรอย่างที่คิด มาจากแนวคิดเจ้าของช่องหรือผู้ร่วมผลิตที่ยังยึดวิธีการเดิมๆ คือ การขายโฆษณาผ่านเอเจนซี่ ที่นำตัวเลขเรตติ้งไปขายกับเจ้าของสินค้า ขณะที่ เจ้าของสินค้าเริ่มให้ความสนใจกับสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะมีตัวเลขการันตีที่เห็นชัดเจน ไม่ใช่แบบทีวีที่เป็นตัวเลขแบบสุ่ม

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นโจทย์ยากกับผู้ประกอบการธุรกิจทีวี เพียงเท่านั้น แต่เป็นโจทย์ยากสำหรับนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะ สาขาวิทยุกระจายเสียง – โทรทัศน์ ที่ต้องปรับตัวอย่างหนักในวันที่ธุรกิจสื่อทีวี กำลังนับถอยหลัง เข้าสู่ยุคที่อาจล่มสลาย

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ สอบถามเรื่องนี้ไปยัง อ.วรพงษ์ ปลอดมูสิก อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะ ผู้เคยทำงานในธุรกิจทีวี ว่าในยุคที่ธุรกิจทีวี มีแนวโน้มที่จะล้มตายจากจอแก้วไปทีละช่อง ต้องสอนให้นักศึกษา ที่จะจบไปทำวิชาชีพสื่อ เตรียมความพร้อม และ ปรับตัวอย่างไร

อ.วรพงษ์ ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า ทุกวันนี้ สื่อทีวี โดดลงไปเล่นในแพลตฟอร์มออนไลน์ ค่อนข้างเยอะ บางช่อง ออกอากาศแบบควบคู่ คือ แบบทั้งทางโทรทัศน์ และ ทางช่องทางออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์มไปด้วย บางช่อง เตรียมคืนช่อง และเตรียมแผนแพร่ภาพผ่านทางออนไลน์ เพียงช่องทางเดียว เพราะ ได้กำไรมากกว่า ในยุคที่ตลาดแรงงานสื่อยังไม่นิ่ง ว่า ผู้ประกอบการสื่อ ต้องการแรงงานแบบใด เราในฐานะผู้สอนมีหน้าที่พัฒนาหลักสูตร และ สอนเด็กให้มีทักษะในการผลิตสื่อ และ ใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ ให้ได้มากที่สุด

อ.วรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนตัวเน้นการสอนให้เด็กนักศึกษา มีทักษะ Content Creator และ Content Provider เพราะ ทั้งสองทักษะนี้ เป็นทักษะที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ไม่ใช่แค่ในตลาดแรงงานสื่อ แต่ในทุกองค์กร ต้องการคนที่มีทักษะ Content Creator และ Content Provider เพื่อสร้างภาพลักษณ์และโปรโมทองค์กร

“ ถึงแม้ธุรกิจทีวี จะนับถอยหลัง แต่ศาสตร์วิชานิเทศศาสตร์ จะไม่มีวันนับถอยหลังตาม เพราะ นิเทศฯ เป็นศาสตร์ที่เน้นการสื่อสาร ตราบใดที่สังคมยังต้องการสื่อสาร หมวดวิชานิเทศศาสตร์ ยังคงอยู่ ” อ.วรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

“ แพลน บี” มองต่าง ธุรกิจทีวี ไปต่อได้ หาก “ อยู่ถูกที่ ถูกทาง ”

บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PALNB ถือเป็นบิ๊กเพลเยอร์ของสื่อนอกบ้านที่ทำรายได้ระดับ 6,000 ล้านบาท ด้าน นางสาวพาขวัญ วงศ์พลทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและพันธมิตรธุรกิจ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนช่วงประมูลทีวีดิจิทัลให้ฟังว่า ภูมิทัศน์สื่อมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะ “ช่องทีวี” แต่สิ่งที่บริษัทมองโอกาสคือ “ตลาดคอนเทนท์” และการใช้ “ทีวีนอกบ้าน” ตอบโจทย์การสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย หรือเรียกง่ายๆว่า “ ลุยสื่อโฆษณานอกบ้าน ”

ข้อมูล ล่าสุด ( 24 มิ.ย.67 ) แพลน บีมี 230 จอแก้ว ที่อยู่นอกบ้าน รองรับลูกค้าสื่อสารกับผู้คนนอกบ้าน และเพื่อให้ธุรกิจครบเครื่อง จึงสร้างสรรค์คอนเทนท์ออกอากาศทางจอแก้วขนาดใหญ่ที่อยู่นอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก 2020 รวมถึง ร่วมสร้างสรรค์รายการเดอะ วอยซ์ ออลสตาร์ และ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน เป็นต้น

จากข้อมูลแต่ละมุมมอง ที่รวบรวมมา คงจะยังด่วนสรุปไม่ได้ว่า เข้าสู่ยุคล่มสลายของธุรกิจทีวี เพราะ หากไปดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงปลายปี พ.ศ.2566 ระบุว่า คนไทยรับชม TV ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 38%  ดูผ่านดาวเทียม 47% และ ดูผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่น 43% มี IPTV ซึ่งก็ผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นกัน 9% และเคเบิล 4%

ส่วนข้อมูล Cross-platform Rating ของ Nielsen ปลายปีที่แล้ว ระบุว่า คนดู TV offline 64% และดู streaming 36% โดยในปี พ.ศ.2566 ในคนที่ดู streaming เป็นคนดู YouTube 14% และดูจาก TikTok 7% กับ 6% ดูจาก Facebook

ส่วนข้อมูลไตรมาสแรกของปีนี้ 16% บอกว่าดู YouTube 7%, ดู TikTok 6%, ดู Facebook และ 5% ดู True ID ในขณะที่ดูสตรีมมิ่งอื่นๆ 11%

“อนาคตของธุรกิจทีวี จะไปต่อได้หรือไม่ ทางรอดคงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ กสทช. หรือ การปลดพนักงาน เพื่อลดภาระของบริษัท แต่ขึ้นอยู่ที่ นายทุน หรือ ผู้ประกอบการ จะมีแผนผลิตคอนเทนต์ ที่ดึงดูดกลุ่มผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึง จะวางผังรายการโทรทัศน์ ให้ดีพออย่างไรที่จะสู้กับบรรดารายการออนไลน์ ที่ออนแอร์ ไม่กี่ EP.ต่อสัปดาห์ ได้อย่างไร ”

Back to top button