AOT สปินออฟ AOTGA เข้าตลาดฯ ปี 68 รองรับโปรเจกต์ 6.7 หมื่นล้านบาท

“ท่าอากาศยานไทย” ประกาศดัน AOTGA ระดมทุนผ่าน IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 68 เพื่อรองรับโปรเจกต์ใหญ่งานบริการภาคพื้นรายที่ 3 และคาร์โก้สุวรรณภูมิ มูลค่ากว่า 67,000 ล้านบาท สัญญายาว 25 ปี “กีรติ” มั่นใจ AOTGA หลังรับงานใหม่ศักยภาพการเติบโตสูง ฟาก “สิริวัฒน์” ลั่นพร้อมแสวงหาโอกาสขยายงานบริการภาคพื้นสนามบินภูมิภาคอาเซียน รูปแบบการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น โชว์ตัวเลขปี 66 รายได้ 2,515 ล้านบาท กำไร 627 ล้านบาท D/E ตำเพียงแค่ 0.77 เท่า


นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่าขณะนี้มีแผนนำบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปี 2568

เนื่องจากปีนี้ AOTGA มีแผนเข้าประกวดราคาเพื่อรับงาน 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 67,305 ล้านบาท ได้แก่ 1)โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 29,390.76 ล้านบาท 2)โครงการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 37,914.56 ล้านบาท หากได้รับงานทั้ง 2 โครงการ AOTGA มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินมารองรับการลงทุนโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ AOT มีแผนประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ทั้ง 2 โครงการในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ หาก AOTGA ได้รับทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะทำให้มีรายได้และการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และควรมีการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการเติบโต ดังนั้นการเข้าจดทะเบียนในตลท.จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เบื้องต้นประเมินว่า AOTGA จะสามารถทำการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ได้ในปี 2568

“เรามีแผนนำ AOTGA เข้าตลาดฯ เพราะเรากำลังผลักดันให้ AOTGA ได้รับงานรายที่ 3 ของทั้ง 2 โครงการ หากได้รับงานทั้งหมดนี้ AOTGA จะมีศักยภาพการเติบโตสูงมาก ดังนั้นควรเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ น่าจะได้ขาย IPO ช่วงปีหน้า” นายกีรติ กล่าว

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น AOTGA ประกอบด้วย AOT ถือหุ้น 49% และบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SAL อีก 51% (โดยมีบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ถือหุ้น 46.8%, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ถือหุ้น 33.20%, บริษัท มายบ็อกส์ จำกัด ถือหุ้น 13.60%)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ AOT ดำเนินการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดหาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการและกำกับดูแลติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการให้บริการตามมาตรฐาน บริหารจัดการโครงการตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ AOT กำหนด

สำหรับเงินลงทุนตามโครงการมาจากเอกชนทั้งหมด 29,390.76 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ 1,608.76 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 27,782.01 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี มีขอบเขตการดำเนินงานในกลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น อาทิ บริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน การขนถ่ายเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือ และกลุ่มบริการอื่น ๆ

ส่วนโครงการให้บริการคลังสินค้าฯ จะเป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost เช่นกัน โดยภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการ และกำกับดูแลการดำเนินการของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่จัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกจ้างจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ บำรุงรักษา บริหารจัดการโครงการคลังสินค้าตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ AOT กำหนดเงินลงทุนตามโครงการมาจากเอกชนทั้งหมด 37,914.56 ล้านบาท

โดยแยกเป็นค่าลงทุนสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์และระบบ รวม 1,318.38 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 36,596.18 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 ปี ขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมทั้งคลังสินค้าขาเข้า คลังสินค้าขาออก คลังสินค้าถ่ายลำ สินค้าเน่าเสียง่าย สินค้าเร่งด่วน และสินค้าอี-คอมเมิร์ซ

นายสิริวัฒน์ โตวชิรกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) เปิดเผยว่า แผนการระดมทุนผ่าน IPO และการนำ AOTGA เข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญต่อการขยายการลงทุน เพราะนับจากนี้บริษัทมีแผนขยายการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงานการขยายงานบริการภาคพื้นฯ, งานเกี่ยวกับการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้)

พร้อมกันนี้ AOTGA ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขยายบริการภาคพื้นฯ ในสนามบินภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรูปแบจะเป็นลักษณะการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) โดยอาศัยจุดแข็งของ AOTGA ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในงานบริการภาคพื้นฯ ผนวกความเข้าใจพื้นที่ของพันธมิตรท้องถิ่น ที่ทำให้มีโอกาสได้รับงานมากยิ่งขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงาน AOTGA ที่ผ่านมา มีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการปิดสนามบิน ส่งผลทำให้ปี 2563-2564 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ

ทั้งนี้ จากงบการเงิน AOTGA ย้อนหลัง 5 ปี (2562-2566) พบว่าปี 2562 มีรายได้ 238.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 39.82 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 16.64% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.12 เท่า, ปี 2563 มีรายได้ 196.70 ล้นบาท ขาดทุนสุทธิ 60.23 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.33 เท่า

โดยปี 2564 มีรายได้ 136.99 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 141.61 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.15 เท่า, ปี 2565 มีรายได้ 749.31 ล้านบาท กำไรสุทธิ 99.65 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 13.30% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.35 เท่า, ปี 2566 มีรายได้ 2,515.44 ล้านบาท กำไรสุทธิ 627.26 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 24.94% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.71 เท่า

Back to top button