เทียบกองทุน TESG แตกต่าง SSF-RMF อย่างไร!?
เปรียบเทียบ TESG กองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ แตกต่างกับกองทุน SSF-RMF อย่างไรบ้าง? พร้อมเป็นความหวังดึงเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทุนไทย พร้อมส่งเสริมการออมระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน Thailand ESG Fund หรือ TESG ใหม่ เพื่อสนับสนุนการออมระยะยาว โดยมีเป้าหมายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็น ESG และการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีเงื่อนไข คือเป็นการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพิ่มจากกองทุน Retirement Mutual Fund หรือ RMF และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว Super Savings Fund หรือ SSF
ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีความเห็นตรงกันที่จะปรับเงื่อนดังกล่าวเพื่อให้เป็น “มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน” หลังจากที่ดัชนี SET Index ได้ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 4 ปีในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นเพื่อให้เห็นความแตกต่างของกองทุนลดหย่อนภาษี TESG-SSF และ RMF “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS ที่ได้รวบรวมมานำเสนอแก่นักลงทุนรับรู้ต่อไป
สำหรับกองทุน TESG หรือ Thailand ESG Fund ปรับเกณฑ์ใหม่มีนโนยบายเข้าลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่เข้าหลักเกณฑ์ ESG และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ทั้งปี และลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมได้ไม่เกิน 100,000 บาท สามารถลดหย่อนได้ในปี 2566-2575 (มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2567) จากเดิมได้ในปี 2567-2575 และเงื่อนไขไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวและต้องการวงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม
สำหรับหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 128 ตัว หลังจากนี้จะมีหุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ตัว ส่วนการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ
ส่วนกองทุน SSF หรือ Super Saving Fund Retirement เป็นกองทุนรวมไทยเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ทั้งปี และลดลงหย่อนไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆต้องไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี โดยเหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาว 10 ปีขึ้นไป
ขณะที่กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุรวมไทยเพื่อการเลี้ยงชีพลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ทั้งปี โดยลดลงหย่อนไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆต้องไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี(หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี) โดยเหมาสำหรับนักลงทุนมีเป้าหมายวางแผนเกษียณ
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อมาตรการ TESG ใหม่นี้ โดยเฉพาะประเด็นการลดระยะเวลาการถือครองที่สั้นลง คาดการณ์เม็ดเงินเข้ากอง TESG ใหม่อยู่ในช่วง 3-4 หมื่นล้านบาท เทียบกับ LTF ที่ซื้อในช่วง 4.5-7.70 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการซื้อสุทธิสูงสุดของ TESG ใหม่ที่ 3 แสนบาท ต่ำกว่า LTF ที่ 5 แสนบาท
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการซื้อ LTF ในอดีตพบว่าผู้มีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี มีการซื้อ LTF เฉลี่ย 1.50 แสนบาทต่อราย วงเงินดังกล่าวจึงถือเป็นการประเมินแบบ Conservative พร้อมกันนี้ คาดการณ์ผลของเม็ดเงิน TESG ใหม่ 3-4 หมื่นล้านบาท และเข้าตลาดหุ้นในช่วง 2.50-4 หมื่นล้านบาท ช่วยหนุน SET Index ได้ระดับ 5-8%
โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ TESG ใหม่ ประเมินใน 2 แง่มุม 1) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงิน TESG ไหลเข้าในระดับสูงชอบ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT
2) หุ้นที่คาดเม็ดเงินไหลเข้าเทียบกับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงชอบ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW