“ดาวโจนส์” ปิดลบ 45 จุด หลังนลท.ซึมซับข้อมูลเงินเฟ้อ-ดีเบตปธน.
“ดาวโจนส์” ปิดลบ 45 จุด หลังนักลงทุนซึมซับข้อมูลเงินเฟ้อตามคาด และประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังจากการดีเบตรอบแรก ด้านภาพรวมตลาดหุ้นนิวยอร์กไตรมาส 2/67 ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.7% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.9% และ 8.3% ตามลำดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (28 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนซึมซับข้อมูลเงินเฟ้อที่เป็นไปตามคาด และประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังจากการดีเบตรอบแรกของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,118.86 จุด ลดลง 45.20 จุด หรือ -0.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,460.48 จุด ลดลง 22.39 จุด หรือ -0.41% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,732.60 จุด ลดลง126.08 จุด หรือ -0.71%
โดยในไตรมาส 2/2567 ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.7% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.9% และ 8.3% ตามลำดับ
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.42% และ 0.62% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มบริการด้านการสื่อสารลดลง 1.08% และ 1.63% ตามลำดับ
ด้านหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลงด้วย หลังหุ้นไนกี้ดิ่งลง 19.98% ซึ่งเป็นการร่วงลงวันเดียวมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี หลังคาดการณ์รายได้ปี 2568 ลดลงมากเกินคาด
สำหรับการเปิดเผยข้อมูลในวันศุกร์บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อรายเดือนของสหรัฐไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ข้อมูลจาก LSEG FedWatch บ่งชี้ว่า แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 66% หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าว
ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า การดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนและนายโดนัลด์ ทรัมป์นั้นถ่วงตลาดลง นอกจากนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปิดเพิ่มขึ้น ได้เพิ่มแรงกดดันต่อหุ้นขนาดใหญ่ด้วย