WTI ปิดลบ 20 เซนต์ อุปสงค์อ่อนแอ-ขายทำกำไรสิ้นไตรมาส

WTI ปิดลบ 20 เซนต์ อุปสงค์อ่อนแอ-ขายสัญญาน้ำมันดิบเพื่อทำกำไรในช่วงสิ้นไตรมาส ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.เพิ่มโอกาสที่ “เฟด” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนประเมินภาวะอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงที่อ่อนแอในสหรัฐ และขายสัญญาน้ำมันดิบเพื่อทำกำไรในช่วงสิ้นไตรมาส ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.เพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 81.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 86.41 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.2% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 0.02% แต่ทั้งสองสัญญาปรับตัวขึ้นราว 6% ในเดือนมิ.ย.

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) เปิดเผยรายงานเมื่อวันศุกร์ระบุว่า ขณะที่การผลิตและอุปสงค์น้ำมันของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนในเดือนเม.ย. แต่อุปสงค์น้ำมันเบนซินลดลงสู่ 8.83 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เทรดเดอร์บางรายได้ขายทำกำไรสัญญาน้ำมันดิบในช่วงสิ้นไตรมาส 2 หลังจากราคาน้ำมันทะยานขึ้นในช่วงต้นเดือนมิ.ย.

โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น ทรงตัวในเดือนพ.ค. ซึ่งเพิ่มความหวังว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.

ด้านเครื่องมือ FedWatch tool ของ CME บ่งชี้ว่า บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ในขณะนี้ว่ามีโอกาส 64% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจาก 50% ในเดือนที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.7% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.8% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันศุกร์บ่งชี้ว่า ราคาน้ำมันอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ของจีนและแนวโน้มปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายสำคัญ จะบดบังความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ผลสำรวจคาดว่า สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 79.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์จะมีราคาเฉลี่ยที่ 83.93 ดอลลาร์/บาร์เรล

Back to top button