BA ลุยพัฒนาสนามบิน “อู่ตะเภา” ชูเรือธงลำใหม่ ดันรายได้โตก้าวกระโดด

BA ปักหมุดพัฒนาสนามบิน “อู่ตะเภา” ขึ้นเป็นเรือธงลำใหม่ หนุนรายได้ BA เติบโตแบบก้าวกระโดด เฟสแรกลุยสร้าง Terminal งบ 4 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ปีละ 4-5 พันล้านบาท เตรียมรับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยในงานสัมมนา “ถอดรหัสหุ้นแกร่ง” โดยนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท จะเป็นอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) และเป็นปัจจัยหนุนหลักที่ช่วยสร้างการเติบโตที่สูงมากแก่ BA เพราะปกติแล้วธุรกิจสนามบินจะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) ที่สูงกว่าธุรกิจสายการบิน

ดังนั้น สนามบินอู่ตะเภาจึงเป็นโอกาสในอนาคตที่สำคัญ แม้ BA จะมีสนามบินของตัวเองแล้ว 3 แห่ง คือ สนามบินสมุย, ตราด และสุโขทัย แต่จำนวนผู้โดยสารก็มิได้สูงมากนัก โดยสนามบินสมุยซึ่งเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารสูงสุดของ BA ยังอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และรองรับได้สูงสุดที่ 2 ล้านคนต่อปี

ขณะที่สนามบินอู่ตะเภานั้น ในเฟสแรกจะรองรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำ 8 ล้านคนต่อปี และเมื่อพัฒนาครบทั้ง 6 เฟสแล้ว จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 60 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับการเดินทางในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการขนส่ง (โลจิสติกส์) รวมทั้งจะมีสายการบินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก BA เข้ามาทำการบินและขยายเครือข่ายเส้นทางที่สนามบินอู่ตะเภาด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ BA เติบโตแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ เฟสแรกจะใช้เวลาก่อสร้างภายใน 3 ปี เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสาร หรือ Terminal ตามสัญญา ซึ่งใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และหลังจากสร้างเสร็จแล้วจะสร้างรายได้เข้ามาปีละประมาณ  4-5 พันล้านบาท โดยมาจาก 2 ส่วน ในส่วนแรกคือรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์สัดส่วน 40% และรายได้จากค่าจอดเครื่องบินประมาณ 60%

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้น บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA (BA ถือหุ้น 45%/บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20%) อยู่ระหว่างเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ใน 4 เงื่อนไขหลัก ซึ่งต้องเจรจาให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มโครงการ เช่น ขอปรับลดการลงทุนในเฟสแรก จากเดิมที่ต้องพัฒนาให้รองรับได้ที่ 12 ล้านคนต่อปี เหลือ 8 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อพัฒนาครบทั้ง 6 เฟสแล้วจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 60 ล้านคนต่อปีตามแผนเดิม

โดยเหตุที่ UTA ต้องขอปรับลดการลงทุนในเฟสแรกดังกล่าว เป็นเพราะขณะนี้ฝ่ายรัฐมีแผนพัฒนาขีดความสามารถสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาภายหลังจากที่มิได้อยู่ในการประเมินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และยอมรับว่าการพัฒนาขีดความสามารถ 2 สนามบินดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ใช้บริการที่สนามบินอู่ตะเภาแน่นอน

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างรอกองทัพเรือเปิดประกวดราคางานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์ 2) สนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งรอฝ่ายรัฐแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งพื้นที่โครงการมีส่วนที่ทับซ้อนอยู่ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา (โครงสร้างสถานีที่อยู่ใต้อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภา) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ และฝ่ายรัฐประเมินว่าจะสามารถออก NTP แก่ UTA ได้ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากเป็นตามเงื่อนเวลาดังกล่าวจริง เชื่อว่า UTA จะเริ่มงานก่อสร้างได้ต้นปี 2568

สำหรับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของ BA ซึ่งประกอบด้วย โรงแรม สถานบันเทิงครบวงจร และร้านค้า มีความพร้อมที่จะรองรับกาสิโนตามแผนของรัฐบาล แต่ขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน ว่าจะเลือกสถานที่ใดในการเปิดกาสิโน

ขณะเดียวกัน BA ยังมีแผนสร้างการเติบโตด้วยการจัดหาฝูงบินใหม่เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำ 20 ลำ เพื่อนำมาทดแทนฝูงบิน ณ ปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 24 ลำ และต้องทยอยปลดระวางรวมทั้งหมดสัญญาเช่า โดยในช่วงปลายปีนี้-ต้นปี 2568 BA จะมีการออกประกาศเชิญชวนให้บริษัทผู้ผลิต ผู้ให้เช่าเครื่องบิน มานำเสนอราคา และคาดว่าจะเริ่มทยอยรับมอบเครื่องบินใหม่ภายใน 2-3 ปีจากนี้

ส่วนรูปแบบการจัดหาจะมีทั้งแบบเช่าและซื้อ ซึ่งจากการประเมินสถานะทางการเงินของ BA ขณะนี้มั่นใจว่ามีความสามารถเพียงพอโดยไม่ต้องเพิ่มทุน หากต้องการใช้เงินเพิ่มเติมก็อาจใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยภาพรวมในช่วง 3-5 ปีจากนี้ BA จะมีฝูงบินที่ 30 ลำ

สำหรับผลประกอบการของ BA นั้น เชื่อว่าจากนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งล่าสุดไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค. 2567) BA มีกำไรสุทธิ 1,873.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3% ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ BA เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่ที่ 20-25% แต่ไตรมาส 1/2567 ทำได้ถึง 30%

ขณะที่ อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 80% สูงกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ที่มี Load Factor เฉลี่ย 70% แม้จำนวนผู้โดยสารจะยังไม่กลับเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด (ปี 2562) แต่พบว่าหลังจากสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป มีความต้องการเดินทางสูง และราคาเฉลี่ยตั๋วโดยสารสูงขึ้นด้วย ส่วนยอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้า (Booking) ช่วงครึ่งปีหลังนี้ (มิ.ย.-ธ.ค. 2567) พบว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 10%

Back to top button