THCOM ผงาดรายแรก! ตรวจวัดคาร์บอนเครดิต ประเดิม “แม่ฟ้าหลวง” แสนไร่

THCOM จ่อคว้าไลเซนส์ผู้ประเมินคาร์บอนเครดิตรายแรกของไทยกลางเดือนนี้ ประเดิมมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 1 แสนไร่ ก่อนขยายไปกลุ่มปตท.-สปป.ลาว ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ 20% เร่งยิงดาวเทียมดวงใหม่เข้าวงโคจร ดันเติบโต 2-3 เท่า ภายใน 5 ปี มั่นใจ Oneweb ไม่กระทบไทยคม หลัง NT ทบทวนสัญญาเอกชน


นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กล่าวในงานสัมมนา “ถอดรหัสหุ้นแกร่ง” ที่จัดโดย “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า THCOM อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติรับรองกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบประเมินคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจากอบก.ภายในกลางเดือนนี้ และถือว่าไทยคมเป็นรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาต โดยนำเทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาช่วยตรวจวัดคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech ในอนาคตจะเป็น S-Curve ของบริษัท โดยตั้งเป้ารายได้ส่วนนี้ประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในอนาคต ทาง THCOM จะมีการเจาะตลาดในส่วนของภาพถ่ายจากดาวเทียม มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีโอกาสทางด้านธุรกิจสูง ที่ปัจจุบันมีความละเอียดของภาพมากขึ้น และมี AI ในการเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมากที่มาจากอวกาศได้แม่นยำชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเข้ามาช่วยในเรื่องของ ESG อาทิ คาร์บอนเครดิต จัดการไฟป่า ภัยพิบัติ มลพิษ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตร เป็นต้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นทางภาครัฐ

โดย THCOM ได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความรู้ในด้านคาร์บอนเครดิต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้เข้าสู่โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) พัฒนาขึ้นโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ทาง THCOM ได้มีการนำภาพถ่ายดาวเทียม และระบบ AI มาใช้วิเคราะห์พื้นที่ป่า โดยสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ดูดซับในแต่ละพื้นที่ที่มีความแม่นยำเกิน 90% ซึ่งลูกค้าสามารถนำข้อมูลคาร์บอนเครดิตไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะขยายไปยังสปป.ลาวและเมียนมา เนื่องจากมีป่าไม้อีกจำนวนมาก

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีป่าไม้ที่ปลูกไว้กว่าแสนไร่ ซึ่งหลังจากได้ใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบประเมินคาร์บอนแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการวัดคาร์บอนเครดิตได้ทันที รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย อย่างเช่น ปตท. ที่ปลูกป่าเป็นจำนวนมาก และในอนาคตก็จะสามารถขยายไปยังสปป.ลาวและเมียนมา”

นายปฐมภพ กล่าวอีกว่า การวัดคาร์บอนเครดิตจะทำทุก ๆ 3 ปี ในพื้นที่ป่าไม้ของลูกค้า ดังนั้นรายได้ของไทยคมก็จะมีตลอด โดยคิดค่าประเมินไร่ละ 50-100 บาท หากมีจำนวน 1 ล้านไร่ ก็จะเท่ากับ 50-100 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ THCOM ยังได้ร่วมมือกับสมาคมวินาศภัย TGIA และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงการคลัง ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการรับประกันภัยนาข้าว ที่ปัจจุบันมีจำนวน 13 ล้านไร่ จากนาข้าวนาปีทั้งหมดในประเทศที่มีประมาณกว่า 50 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันยังเน้นการตรวจในส่วนของข้าวเป็นหลัก แต่ในอนาคตอาจสามารถขยายผลต่อยอดไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อีก เช่น ทุเรียน ข้าวโพด ยางพารา เป็นต้น เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูลในการประกันอย่างเดียว แต่ยังใช้ตรวจสอบความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชด้วย

นอกจากนี้ ด้านความมั่นคงก็มีความร่วมมือในการร่วมสนับสนุนและวิจัยร่วมกับเหล่าทัพ อาทิ การสื่อสารผ่านดาวเทียมในเรือรบ การสื่อสารอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน เป็นต้น

ยิงดาวเทียมดวงใหม่

สำหรับทิศทางครึ่งปีหลัง มองว่ายังมีทิศทางที่ดี ปีนี้พยายามจะสร้างฐานลูกค้าเดิมที่มีไปสู่ดาวเทียมดวงใหม่ และพยายามรักษากำไรของบริษัทให้ดีที่สุด ประกอบกับจะมีสินทรัพย์ใหม่เข้ามาในปี 2568 รวมถึงภาพการเติบโตที่ดีจะเห็นตั้งแต่ช่วงปีหน้าเป็นต้นไป คาดการณ์รายได้จะเติบโต 2-3 เท่า ภายใน 5 ปี หลังจากส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจร

ขณะที่ ธุรกิจดาวเทียมของ THCOM นั้น บริษัทได้มีแผนการต่อยอดธุรกิจในส่วนนี้ จากเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม และบริษัทได้ชนะการประมูลวงโคจรดาวเทียม 2 วงโคจร คือ วงโคจรดาวเทียม 78.5E และวงโคจร 119.5E รวมถึงได้มีการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นไป 15,000 ล้านบาท ในการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ 3 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 9, ดาวเทียมไทยคม 9A และดาวเทียมไทยคม 10 ที่ตำแหน่งวงโคจร 119.5E

สำหรับดาวเทียมไทยคม 9A จะมาก่อน โดยซื้อจากผู้ประกอบการดาวเทียมในยุโรป และจะลากดาวเทียมดวงดังกล่าวมาที่ประเทศไทย ระยะเวลาใช้งาน 3 ปี เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 รวมถึงดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ที่มอบให้กับรัฐ จะมีดาวเทียมบางดวงที่กำลังจะหมดอายุในอีก 2 ปี จึงต้องซื้อดาวเทียมจากยุโรปมาใช้งาน และการสั่งซื้อดาวเทียมดวงเล็กของ Astranis บริษัทผู้ผลิตดาวเทียมชั้นนำที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากสหรัฐอเมริกา ที่จะขึ้นสู่วงโคจรประมาณกลางปี 2568 ขณะที่ดาวเทียมดวงใหม่นั้นก็ได้มีการเซ็นสัญญากับ Airbus Space Systems ให้เป็นผู้ออกแบบและสร้างดาวเทียมดวงใหม่ พร้อมจัดหาอุปกรณ์ควบคุมภาคพื้นดิน ใช้เทคโนโลยี Software-Defined High Throughput Satellite โดยจะขึ้นสู่วงโคจรในปี 2570

ขณะเดียวกัน THCOM ได้มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ Eutelsat Asia บริษัทในเครือ Eutelsat Group ผู้ให้บริการดาวเทียมชั้นนำของโลกจากประเทศฝรั่งเศส เป็นพันธมิตรในการเช่าช่องสัญญาณของดาวเทียมดวงใหม่ทั้งหมดจำนวน 50% ตลอดอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมหาศาล ส่วนการต่อยอดในประเทศนั้นปัจจัยมาจากการใช้ Internet Broadband ต่อเนื่อง และในต่างประเทศบริษัทจะเน้นเจาะเป้าหมายจากประเทศที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว เช่น ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยทั้ง 3 ประเทศมีประชากรรวมกว่า 1,800 ล้านคน จึงมองว่าธุรกิจของบริษัทจะเติบโตได้อีกระยะ 20 ปีในอนาคต จะสร้างทั้งรายได้และกำไรอย่างก้าวกระโดดจากปัจจุบัน

สำหรับปัจจุบันรายได้ทั้งหมด THCOM คิดเป็น 40% มาจากต่างประเทศ และ 60% ในประเทศ หลังจากลงทุนดาวเทียมชุดใหม่แล้ว ประกอบกับในเรื่องของ Space Tech คาดการณ์ว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้ 70% อาจมาจากต่างประเทศ และในประเทศ 30% ด้านการลงทุนในประเทศ สปป.ลาว บริษัทได้มีการลงทุน 25% ในบริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (LTC) ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากภาวะเงินเฟ้อสูงในสปป.ลาว เงินกีบอ่อนตัวเป็นเท่าตัวเทียบกับก่อนช่วงโควิด ทางรัฐสปป.ลาวก็มีความจำเป็นในการใช้ Data อีก 100% แต่บริษัทปัจจุบันยังรักษาระดับการเติบโตได้ดีอยู่ ส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 60%

Oneweb ไม่กระทบไทยคม

นายปฐมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยคมไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีบริษัท เน็ตเวิร์ค แอคเซส แอสโซซิเอท จำกัด (Network Access Associates) หรือ OneWeb ที่มอบสิทธิการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านฝูงดาวเทียมวงโคจรต่ำแก่ mu Space เนื่องจากไทยคมก็มีสิทธิในการให้บริการเช่นกัน โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา THCOM ได้เซ็นสัญญา Oneweb ร่วมมือกันไปทำตลาดในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบอยู่และคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ กรณีคณะกรรมการ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) กำลังทบทวนสัญญาบริการหลักระหว่าง NT กับ Oneweb ซึ่งมีการให้สิทธิการให้บริการหลักแก่ mu Space สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตผ่านฝูงดาวเทียมวงโคจรต่ำของ Oneweb ในตลาดไทย และกลุ่มประเทศ CLMV ว่าบริษัทมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อหุ้น THCOM จากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าการทบทวนสัญญาบริการจะเปิดโอกาสให้ THCOM ได้รับสิทธิที่ดีขึ้นในการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งน่าจะรักษาความสามารถในการแข่งขันของ THCOM

โดยยอมรับว่ากังวลมากขึ้นต่อสภาวะการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่ง THCOM เป็นผู้เล่นรายหลัก หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดตลาดให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในตลาดไทย

ทั้งนี้ คงประมาณการกำไรปกติปี 2567-2569 และคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 17.26 บาท สำหรับหุ้น THCOM ปัจจัยผลักดันราคาหุ้นคือ 1)ส่วนแบ่งผลขาดทุนที่น่าจะลดลงจากบริษัทร่วมอย่าง ลาว เทเลคอม 2)การเตรียมเซ็นสัญญาบริการกับลูกค้าอินเดีย และ 3)การเตรียมเซ็นสัญญาบริการจากโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ของกสทช.

Back to top button