“พาณิชย์” แนะผู้ประกอบการไทย รุก “สินค้าความงาม” ชิงส่วนแบ่งตลาดเวียดนาม
นายกฯเวียดนาม เรียกร้อง นานาชาติลดดอกเบี้ย หนุนการค้าโลก หลังเวียดนามเศรษฐกิจโตแรง 6.93% ในไตรมาส 2/2024 ด้านกระทรวงพาณิชย์ นครโฮจิมินห์ เชิญ ผู้ประกอบการไทยลงทุน ธุรกิจความงามในเวียดนาม หลังพบยังเป็นที่ต้องการจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 1 ก.ค.67 ) สำนักข่าว บลูมเบิร์ก (Bloomberg) เปิดเผยว่า นายฝ่าม มิง ชิ้ง (Pham Minh Chinh ) นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม เรียกร้องในงานประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่ประเทศจีน ให้ประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุม พิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเพิ่มดีมานด์ในตลาดโลก
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม เร่งโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาส 2 เนื่องจาก ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าและกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ สำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม ระบุว่า GDP ของเวียดนามในไตรมาส2 เติบโต 6.93 % นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะอยู่ในระดับคงที่ในปีนี้
สำหรับธุรกิจในประเทศเวียดนาม ที่กำลังเติบโตและไปได้ดี อีกทั้ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงาม ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ความงามในพื้นที่กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ พบว่าผู้หญิงมากกว่า 93% ที่มีอายุระหว่าง 25-32 ปี ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวทุกวัน โดยเฉลี่ยงบประมาณสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ 436,000 เวียดนามดง ต่อเดือน หรือประมาณ 620 บาท
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ได้เสนอโอกาสและแนวทางต่อผู้ประกอบธุรกิจของไทย ว่า เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลตนเองที่บริโภคในตลาดเวียดนามส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าถึงกว่า 93% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2567 มูลค่าการนำเข้ารวมของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้อยู่ที่ประมาณ 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าจากเกาหลีใต้มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด หรือกว่า 30% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ไทย และสหภาพยุโรป ตลาดสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลตนเองในเวียดนาม มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมาในเวียดนาม จึงควรศึกษาความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มความนิยม เนื่องจากปัจจุบันความนิยมในสินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลตนเองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความศึกษาคู่แข่งเพื่อกำหนด Positioning ของสินค้า เพื่อให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย และแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น