IAA ชี้เป้า SET ปีนี้ทดสอบ 1,462 จุด แนะลงทุน 5 หุ้นบลูชิพตัวท็อป
“สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน” ชี้เป้า SET ปีนี้แตะ 1,462 จุด ชู 5 หุ้นบลูชิพตัวท็อป นำโดย ADVNAC-AOT-CPALL-MINT-TU พร้อมแนะกระจายพอร์ตลงทุนหุ้นสัดส่วน 28.58% ,เงินสด 10.29%,ทองคำ 7.81% และกองทุนอสังหาฯ 6.56%
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 24 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังของปี 67 คาดว่าทิศทางหุ้นไทยในระยะสั้นช่วงไตรมาส 3/67 มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก โดยจะปิดสิ้นไตรมาส 3 ที่ 1,379 จุด และเมื่อมองตลอดปีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,261-1,475 จุด โดยไปปิดสิ้นปี 67 ที่ 1,462 จุด
ทางด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 67 ของตลาดเฉลี่ยได้ที่ 91.4 บาท ปรับลดจากผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 92.92 บาท ต่อหุ้น และคาดว่า EPS Growth ของปี 67 เฉลี่ยอยู่ที่ 14.31%
สำหรับผลสำรวจโดยสรุปมีดังนี้ สมมติฐานหลักมาจาก1.ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้ 82.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล,2.คาดการณ์ การขยายตัวของ GDP ไทยปี 67 จากเดิมที่ 2.80% (เม.ย.67) ลดลงมาเหลือ 2.64%,3.Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.78%, 4.Risk Premium ของตลาดหุ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 7.62%
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 67 แบ่งเป็น ปัจจัยบวก นำโดย ผลประกอบการของ บจ.ปี 67 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 83.33% ปัจจัยรองลงมา 79.17% โหวตให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก 68% และปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศ มีผู้ตอบ 62.50% ตามลำดับ
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ฟันด์โฟลว์ต่างประเทศไหลออกจากตลาดหุ้นไทย มีผู้ตอบ 70.83% ของผู้ตอบทั้งหมด รองลงมาคือ ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 69.23% ตามมาด้วยปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ 65.38%
นอกจากนี้คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ณ สิ้นปี 67 มีนักวิเคราะห์ถึง 62.50% ที่คาดว่าจะคงที่ แต่ก็มีผู้ตอบ 29.17% มองว่าปรับลด 0.25% และ 8.33% มองว่าปรับลดลง 0.50% ตามลำดับ
ทั้งนี้นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น เงินสดและเงินฝากระยะสั้นสัดส่วน 10.29%,กองทุนตราสารหนี้สัดส่วน 21.88%,หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศสัดส่วน 28.58%,หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทยสัดส่วน 24.13%,ทองคำหรือกองทุนทองคำสัดส่วน 7.81% ,กองทุนอสังหาฯหรือ REIT สัดส่วน 6.56% และสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินดิจิทัล Bitcoin สัดส่วน 0.75%
ส่วนความเห็นต่อการลงทุนต่างประเทศนั้น แนะนำให้ลงทุนกองทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี-AI และ Selective Asia เช่น จีน อินเดีย เกาหลี เวียดนาม
ขณะที่การลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ อาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีก การแพทย์และการท่องเที่ยว ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธนาคาร พลังงานและปิโตรเคมี
สำหรับรายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มองว่ากำไรเติบโตแข็งแกร่งจากการประหยัดต้นทุนหลังรวมกิจการ จ่ายปันผลดีสม่ำเสมอ
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้แรงหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ปลอดภาษีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปกับการปรับค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่จะยกระดับสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบินและไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้อานิสงส์จากการบริโภคและท่องเที่ยวเติบโต และยังมี upside จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โครงการแจกเงินดิจิตอล
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ไตรมาสที่ 3 เป็นช่วง High Season ของทวีปยุโรปในด้านการท่องเที่ยว และมีงานกีฬาใหญ่ 2 งาน ได้แก่ ฟุตบอลยูโร และโอลิมปิก ซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้โรงแรมจากคนจำนวนมากที่มาเชียร์กีฬา ส่งผลให้ MINT ซึ่งมีโรงแรมในยุโรปอยู่มากมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ รายได้จากฝั่งประเทศไทย ด้านการท่องเที่ยวและอาหารก็ดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ของรัฐบาล เช่น Free VISA, การจัดกิจกรรมและเทศกาล เป็นต้น ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU โดยมองว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสแรกของปีนี้ ต้นทุนทูน่าลดลง ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน
สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นที่มีความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล และหุ้นรายตัวที่มีภาระกู้ยืมสูง/เพิ่มทุน
นอกนจากนี้นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับงบประมาณ โดยกล่าวถึงมาตรการทั้งในระยะสั้นและยาว แยกเป็นด้านการช่วยเหลือภาคประชาชน ได้แก่ ช่วยเหลือการบริโภคในประเทศที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มเปราะบาง) เพิ่มมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อแบบคนละครึ่ง แต่อาจจะเป็นรัฐช่วย 20% และสนับสนุนกองทุนลดหย่อนภาษี LTF / ช่วยเหลือค่าครองชีพ พร้อมทั้งกระตุ้นการจ้างงาน
อีกทั้งเสนอให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนอุตสาหกรรม New S-Curve ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และตามมาด้วยการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนต่างชาติและมาตรการผ่อนคลายอสังหาฯ