เปิด 20 หุ้น “Short Sell” สูงสุด! โอกาสคัพเวอร์ชอร์ต หลังเริ่มใช้มาตรการ Uptick

“บล.เอเซีย พลัส” มองมาตรการ Uptick ช่วยลดปริมาณการ Short Sell และความผันผวนของตลาดได้ระดับหนึ่ง พร้อมคัด 20 หุ้นถูก Short Sell สูงสุด โดยมีโอกาสฟื้นตัวในระยะสั้น IVL นำทีม สัดส่วน 30.60%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการออกมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในวานนี้ (1 ก.ค. 67) เป็นวันแรกที่เริ่มใช้มาตรการ Uptick Rule เพื่อช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยจากการ Short Sell โดยให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ ได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick)

นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการอื่นๆ อาทิ 1.มาตรการทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้โดยกำหนดให้หลักทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ใน SET100 ต้องมี Market Cap 7,500 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมกำหนดไว้ที่ 5,000 ล้านบาท และกำหนดให้มี T/O Ratio 12 เดือน ที่ระดับ 2% 2.การลงทะเบียน High-Frequency Trading และ 3.มาตารการเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่สมาชิกทุกราย

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ (1 ก.ค. 67) คาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยลดน้อยลง และปริมาณการ Short Sell มีโอกาสลดลงตามลำดับ โดยสังเกตได้ว่าช่วง 1 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมาก จากความไม่แน่นอนทางการเมือง และยังมีความผันผวนเพิ่มเติมจากปริมาณการ Short Sell พุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 13%-17% ของปริมาณซื้อขาย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ที่ 11.40% อย่างไรก็ตามพอมีข่าวเรื่อง Uptick Rule ปริมาณการชอร์ตสุทธิก็ค่อยๆ ลดลงมา จนในวันที่ 28 มิ.ย. 67 เหลือสัดส่วนการ Short Sell ที่ 10.18%

โดยประเมินว่าหลังจากการเริ่มบังคับใช้ Uptick Rule ในวันที่ 1 ก.ค. 67 ไปแล้ว จะช่วยลดปริมาณการ Short Sell และความผันผวนของตลาดได้ดีในระดับหนึ่ง และน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับช่วงโควิดปี 2563 หลังมีการใช้กฎ Uptick มูลค่า Short Sell ลดลงจาก 3,992 ล้านบาทต่อวัน (สัดส่วน 5.97% ของมูลค่าซื้อขายต่อวัน) เหลือเพียง 850 ล้านบาทต่อวัน (สัดส่วน 1.23% ของมูลค่าซื้อขายต่อวัน) หรือลดลงไปกว่า 79% ขณะที่มูลค่าซื้อขายรายวันไม่ได้ลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำการค้นหา หุ้นที่ถูก Short Sell เยอะในช่วงที่ตลาดเริ่มผันผวนจากประเด็นการเมืองจนถึงปัจจุบัน (21 พ.ค.-28 มิ.ย. 67) โดยได้รายชื่อหุ้นที่มีสัดส่วน Short Sell สูงสุด 20 อันดับแรก ซึ่งเชื่อว่าระยะถัดไปปริมาณการ Short มีโอกาสลดลง ส่งผลให้หุ้นผันผวนน้อยลง และมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ ได้ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL สัดส่วน 30.60%, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC สัดส่วน 30.00%, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC สัดส่วน 29.70%, บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP สัดส่วน 29.5%, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP สัดส่วน 28.10%

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC สัดส่วน 27.30%, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, สัดส่วน 26.80%, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR, สัดส่วน 26.20%, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL, สัดส่วน 26.20%, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC สัดส่วน 25.60%, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR สัดส่วน 24.80%, บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP สัดส่วน 24.70%, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT สัดส่วน 24.1%

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH สัดส่วน 23.30%, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH สัดส่วน 22.60%, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC สัดส่วน 22.40%, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สัดส่วน 22.30%,  บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL สัดส่วน 22.20%, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI สัดส่วน 22.20% และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL สัดส่วน 22.20%

Back to top button