CGSI ชู AMATA ท็อปพิก! นักลงทุน “มาเลเซีย” สนใจหุ้นนิคมฯไทย
CGSI มองลูกค้ากองทุนมาเลเซีย สนใจหุ้นนิคมอุตสาหกรรมไทย ได้ประโยชน์จาก FDI ในอาเซียน หลังผู้ประกอบการ ย้ายฐานมาจากจีน ชู AMATA-WHA เด่น และเลือก AMATA เป็นหุ้น Top pick ราคาเป้าหมาย 30.75 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (2 ก.ค.67) ว่าได้เดินทางไปพบกับลูกค้ากองทุน 11 บริษัทที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง Marketing trip เพื่อนำเสนอกลยุทธ์การลงทุนและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของไทยในวันที่ 26-27 มิ.ย.67 โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่ไปพบนั้น ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ตลาดหุ้นไทย จากความไม่แน่นอนทางการเมือง (คดีที่รอศาลตัดสิน) และความล่าช้าในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น ลูกค้าส่วนหนึ่งให้ความสนใจหุ้นนิคมอุตสาหกรรมที่มีธุรกิจในต่างประเทศและได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นผลจากการเร่งย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน เพราะความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ กองทุนบางแห่งถือหุ้น WHA ส่วนหุ้นของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จากความล่าช้าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, GDP ที่ขยายตัวลดลงแลอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนตัว กระทบทิศทางหุ้นของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่นักลงทุนให้ความสนใจกับหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Data center และเปรียบเทียบระหว่าง AMATA กับ WHA เช่น แผนขยายกิจการ, ที่ดิน, อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) และส่วนต่าง P/E
โดยฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่าทั้ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนใน Data center ในไทย เนื่องจากนิคมฯสามารถจัดหาพลังงานทดแทนและโครงสร้างโทรคมนาคมที่ทันสมัย
โดย WHA ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ ให้บริการ Data center ชั้นนำระดับโลก เพื่อขายที่ดิน 400 ไร่ใน ครึ่งหลังปีนี้
อย่างไรก็ตามมองว่า AMATA เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า WHA เนื่องจาก AMATA น่าจะมีกำไรปกติต่อหุ้นเติบโตสูงกว่าในอัตรา 19% CAGR ในปี 2567-2569 (เทียบกับ WHA 12.8% CAGR) เพราะบริษัทมีที่ดินมากกว่า, อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า และการประเมินมูลค่าน่าสนใจกว่า
ขณะที่ WHA เป็นที่รู้จักของนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจุบันค่า P/E ของ WHA และ AMATA ต่างกัน 3 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปีต่างกัน 2 เท่า แต่ช่องว่างดังกล่าวน่าจะหดแคบลง หลัง WHA เลื่อนแผนขายสินทรัพย์ให้ WHART ทำให้การเพิ่มทุนผ่าน WHART ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับ AMATA น่าจะเป็นสถิติยอดขายที่ดินใหม่ที่ผ่านมา และการเคลียร์พื้นที่ล่าช้าของโครงการในเวียดนาม
ทั้งนี้ฝ่ายนักวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และเลือก AMATA เป็นหุ้น Top pick ราคาเป้าหมาย 30.75 บาท ส่วน WHA ราคาเป้าหมาย 6.35 บาท