โบรกชู CPF ท็อปพิก ลุ้นกำไร Q2 โต รับราคา “เนื้อสัตว์” เฉลี่ยสูงขึ้น

โบรกคงน้ำหนักลงทุน “หุ้นเนื้อสัตว์” เท่าตลาด รับแนวโน้มผลงานไตรมาส 2 โตตามราคาเนื้อสัตว์เฉลี่ยสูงขึ้น พร้อมยกให้ CPF เป็นหุ้นเด่น ได้รับผลดีจากราคาเนื้อสุกรที่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งที่


บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ PI ระบุในบทวิเคราะห์วานนี้ (2 ก.ค.67) ว่า ราคาสุกรอยู่ที่ 68 บาท/กก. (ลดลง 11% จากปีก่อน และลดลง 6% จากเดือนก่อน) เทียบกับปีก่อนยังคงติดลบอยู่ ส่วนเทียบกับเดือนก่อนอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งคาดว่าการเข้าสู่ฤดูฝนอาจจะทำให้ความต้องการบริโภคชะลอตัวลง

โดยราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2 อยู่ที่ 69 บาท/กก. (ลดลง 29%จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน) ราคาเนื้อไก่อยู่ที่ 44 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน) ยืนราคานี้มาเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่วนการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนยังคงได้รับผลดีจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 44 บาท (เพิ่มขึ้น 8%จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน)

ด้านต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ในเดือน มิ.ย. ราคาข้าวโพดอยู่ที่ 11.8 บาท/กก. (ลดลง 7% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 10% จากเดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.66 ที่อยู่ที่ 11.90 บาท/กก. ส่วนราคากากถั่วเหลืองอยู่ที่ 21.50 บาท/กก. (ลดลง 3% จากปีก่อน, ลดลง 1% จากเดือนก่อน)

ขณะที่ราคาสุกรที่เวียดนามเดือน พ.ค. ข้อมูลจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF อยู่ที่ 64,629 ดอง/กก. (เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 9% จากเดือนก่อน) ส่วนเดือน มิ.ย. ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการยังคงยืนสูงได้ต่อ โดยบางวันเห็นราคาไปถึง 70,000 ดอง/กก.ส่วนราคาที่จีนเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้นถึง 18 หยวน/ กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาเนื้อสัตว์ในประเทศเดือน ก.ค. ต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาฝนที่เริ่มตกหนัก หลังจากไทยเข้าสู่ภาวะลานีญา ที่อาจจะทำให้ความต้องการบริโภคลดลง อย่างไรก็ตามในแง่ผู้ประกอบการอาจจะทำให้มีผลผลิตลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นได้ ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 2/67 คาดการณ์ว่าจะเห็นการเติบโตได้ต่อเนื่องตามราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ขณะที่ผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มคาดว่ายังไม่มากนักเพราะมีสต๊อกเดิมเหลืออยู่ จึงคงน้ำหนักการลงทุนที่ “เท่าตลาด” เช่นเดิม ส่วนหุ้นแนะนำเลือก “CPF”  เป็น Top Picks เพราะได้รับผลดีจากราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกๆ ประเทศ ทั้งที่ไทย เวียดนาม และจีน

Back to top button