กกร. ปรับเป้าส่งออกปีนี้โต 0.8-1.5% แม้เผชิญเทรดวอร์ “จีน-สหรัฐ”

กกร. ปรับกรอบการเติบโตของการส่งออกเป็น 0.8-1.5% จากกรอบเดิมที่ให้ไว้ที่ 0.5-1.5% แม้เผชิญความเสี่ยง “สงครามการค้า” จีน-สหรัฐ โดยการขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ค.67) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า มีการปรับกรอบการเติบโตของการส่งออกเป็น 0.8-1.5% จากกรอบเดิมที่ให้ไว้ที่ 0.5-1.5% แม้ว่าการส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน และการขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน

โดยประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น แต่อาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ กกร. ยังคงมองกรอบ GDP และเงินเฟ้อเท่าเดิม แต่ห่วงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูงส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้ GDP ของไทยในปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%

สำหรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ของ กกร.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน GDP เดือน พ.ค. อยู่ที่ 2.2-2.7%, เดือน มิ.ย. 2.2-2.7%, เดือน ก.ค.2.2-2.7%  ส่วนการส่งออกเดือน พ.ค.อยู่ที่ 0.5-1.5%, เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.5-1.5%, เดือน ก.ค. อยู่ที่ 0.8-1.5% และเงินเฟ้อเดือน พ.ค. อยู่ที่       0.5-1.0%, เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 0.5-1.0% และเดือน ก.ค.อยู่ที่ 0.5-1.0%

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกกร. มีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ ขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2567-2580 (PDP2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากการที่ กกร.จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตรและบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบการภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ส่งกระทบต่อรายได้ในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด ให้ค่าแรงที่ปรับมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. เน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากนี้ กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน

โดย กกร. จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุน โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 279 สาขา และมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 129 สาขา ซึ่งสามารถเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงจะเป็นระบบที่สามารถรับรองทักษะแรงงาน ตอบโจทย์เทคโนโลยีและบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Productivity) ให้แก่ประเทศ

Back to top button