ก.ล.ต.จี้ SBNEXT แจงเงินกู้ยืมจาก SABUY ใช้ผิดวัตถุประสงค์-การตั้งสำรอง

ก.ล.ต. สั่ง SBNEXT แจงเหตุไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ กรณีการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน พ่วงการนำเงินกู้ยืมจาก SABUY สถาบันการเงิน-บุคคลอื่น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงิน และมีกระบวนการ-ขั้นตอน การตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญอย่างไร


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT และคณะกรรมการของ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับกรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 1 ปี 2567 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง โดย SBNEXT ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันกรณีการกู้ยืมเงิน และนำสินทรัพย์ของบริษัทไปค้ำประกันให้กลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.92% รวมทั้ง SBNEXT ได้นำเงินกู้ยืมไปลงทุนในหลักทรัพย์

โดยระบุว่า ตามที่ SBNEXT ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ระบบ SETLink) เมื่อวันที่ 14 และ 21 มิถุนายน 2567 เพื่อชี้แจงข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับกรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 1 ปี 2567 โดยได้ชี้แจงถึง (1) การแก้ปัญหาสภาพคล่อง (2) การกู้ยืมเงินและการนำสินทรัพย์ไปค้ำประกันให้กลุ่ม SABUY ผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 24.92% การลงทุนในหลักทรัพย์และหุ้น SABUY และการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน

(3) นโยบายการพิจารณาลงทุนและวัตถุประสงค์การลงทุนในตราสารทุน การบริหารความเสี่ยงและติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนสัดส่วน แหล่งเงินทุน ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ และ (4) นโยบายการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสาเหตุการเพิ่มขึ้นของรายการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งแนวทางการติดตามหนี้ และ (5) หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขอให้ SBNEXT ดำเนินการให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายที่ได้กำหนดไว้นั้น

โดยก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้างต้นถือเป็นข้อมูลที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ให้ SBNEXT และคณะกรรมการของบริษัท ชี้แจงข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) กรณี SBNEXT ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันกรณีการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน และการนำสินทรัพย์ของ SBNEXT ไปค้ำประกันให้บุคคลที่เกี่ยวโยงกันนั้น มีรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอย่างไร และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติรายการ และหลักประกันเงินกู้ยืมมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน

(2) การนำเงินกู้ยืมจาก SABUY สถาบันการเงิน และบุคคลอื่น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงิน โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น มีการลงทุนในหลักทรัพย์ใดบ้างและแต่ละครั้งมีการปฏิบัติตามนโยบายลงทุน หลักเกณฑ์และขั้นตอนการลงทุน อำนาจการตัดสินใจลงทุน และวัตถุประสงค์การเข้าลงทุน หรือไม่ และมีใครเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ รวมถึงกรณีที่เกิดผลขาดทุนในหลักทรัพย์ที่ลงทุน SBNEXT มีการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้หรือไม่

(3) การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผลขาดทุนด้านเครดิต มีนโยบาย กระบวนการและขั้นตอน และอำนาจอนุมัติในการตั้งสำรองและการตัดหนี้สูญอย่างไร และมีการปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายหรือไม่

ทั้งนี้ ให้ SBNEXT ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. พร้อมกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 และเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบ SETLink

อนึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการติดตามและตรวจสอบในกรณีนี้ และหากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Back to top button