“World Bank” ชี้เศรษฐกิจไทยน่าห่วง หนี้ครัวเรือน–สาธารณะพุ่ง

ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทย พบ เสี่ยงฟื้นตัวช้า เหตุ หนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะ พุ่งสูง นำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน “เผ่าภูมิ” ยัน หนี้สาธารณะยังต่ำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 4 ก.ค.67 ) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยในรายงาน ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 2% ถึง 3% ตามลำดับ ท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความล่าช้าของการทำงบประมาณปี พ.ศ.2567 -พ.ศ.2568 ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐหดตัว 27.70%

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน-ปัญหาหนี้สาธารณะ จากผลสำรวจชี้ชัดว่า ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือน ล่าสุด ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่ ปัญหาหนี้สาธารณะ ประเมินว่า จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.6% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ของ GDP เนื่องจากการลงทุนภาครัฐกลับมาเป็นปกติประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภคซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง

ธนาคารโลก ( World Bank ) ยังระบุในรายงานอีกว่า แม้หนี้สาธารณะของประเทศไทย จะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในการใช้จ่ายด้านสังคมและการลงทุนภาครัฐในด้านทุนมนุษย์เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ( World Bank ) ได้ให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือทางสังคมและการให้เงินช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีความเปราะบางประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้ภาษีส่งเสริมความเสมอภาค สร้างช่องว่างทางการคลังและกระตุ้นการลงทุนได้ โดยในระยะยาวการเติบโตตามศักยภาพสามารถยกระดับได้ด้วยการปฏิรูปทางการคลังเพื่อปลดปล่อยศักยภาพการเติบโตในหลากหลายด้านทั่วประเทศ ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคที่การพัฒนายังไม่คืบหน้า ช่วยดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน และสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

ภายหลังมีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดย ธนาคารโลก ทางด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมายืนยันว่า หนี้สาธารณะของไทย ยังไม่สูงถึงขั้นน่าเป็นห่วง หนี้สาธารณะปัจจุบันของไทยอยู่ที่ 57% ต่อ GDP เท่านั้น ซึ่งถือว่าไทยมีหนี้ต่ำมาก หากมีหนี้สาธารณะสูงตามรายงาน จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน.) ที่จะบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหา

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 ยังออกมาไม่ดีนั้น รัฐบาลก็มีความกังวล เพราะฉะนั้น กระทรวงต่างๆ รวมถึงกระทรวงการคลัง ก็พยายามออกมาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเมืองรอง ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ด้านธนาคารออมสิน ก็มีมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่ เพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยสินเชื่อต่อ ซึ่งอยู่ระหว่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า พร้อมกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น

Back to top button