“ไทยเบฟ” ปรับโครงสร้างใหญ่! เตรียมเพิกถอน SSC ออกจากตลาดฯ 

เปิด 3 เหตุผลเพิกถอนหุ้น “SSC” ออกจากตลาดฯ หวังปรับแผนโครงสร้างธุรกิจอนาคต หลัง “โซ วอเตอร์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งโต๊ะเทนเดอร์หุ้นที่เหลือ 93 ล้านหุ้น สัดส่วน 35.33% ราคาหุ้นละ 63 บาท พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (5 ก.ค.67) จากกรณี บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัทฯเปิดเผยว่าที่ปะชุมครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 มีมติสำคัญ ดังนี้

1.รับทราบหนังสือแจ้งความประสงค์ของ บริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด (โซ วอเตอร์) ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยบริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 จาก โซ วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และเป็นบริษัทย่อยของ ThaiBev ซึ่ง ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 โซ วอเตอร์ ถือหุ้นสามัญในบริษัทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 171,954,804 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 64.67 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท

ขณะที่หนังสือดังกล่าวระบุว่า โซ วอเตอร์ มีความประสงค์ในการเข้าทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดของบริษัทจำนวน 93,945,680 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35.33 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาเสนอซื้อ 63.00 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ การเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขสำเร็จครบถ้วน ขณะที่ บริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทจำนวน 171.95 ล้านหุ้น สัดส่วน 64.67% ของสิทธิออกเสียงในกิจการและยังเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev

อย่างไรก็ตามการเพิกถอนหุ้นดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในอนาคต ได้แก่

1.ช่วยให้การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการลดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้การบริหารกิจการและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น

2.กลุ่มไทยเบฟ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธภาพในการบริหารจัดการและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจมีการปรับโครงสร้างภายในและปรับโครงสร้างของธุรกิจในด้านต่างๆ ที่อาจดำเนินการในลักษณะของการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ การควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน, การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ, การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงาน การกู้ยืม-การให้กู้ยืมเงิน ตลอดจนการระดุมทุนรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

3.ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และหน้าที่ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียน

Back to top button