“ปานปรีย์” แนะรัฐบาลยกเครื่องนโยบายเศรษฐกิจ เรียนรู้จากคู่แข่ง
“ปานปรีย์” ห่วงเศรษฐกิจประเทศถดถอย ชี้ไทยต้องปรับตัวให้ทันกระแสโลก หนุนอุตสาหกรรมเก่าปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 5 ก.ค.67 ) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึง สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวนที่แตกต่างกันออกไป อย่าง ประเทศไทย เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มมาอยู่ระดับ 65.05% ทําให้การใช้จ่ายภาครัฐมีข้อจํากัด ขณะที่หนี้ครัวเรือนสิ้นปี พ.ศ.2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นที่ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเจอกับปัญหาจากผันผวนจากปัจจัยภาคนอก เช่น อัตราเงินเฟ้ออัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนพลังงาน มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย
นายปานปรีย์ กล่าวว่า ตนมองว่ารัฐบาลควรมีนโยบาย และมาตรการเพื่อปรับมาตรการ รวมถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยท้าทายต่างๆ ของโลก โดยมีข้อเสนอแนะทิศทางเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1.ปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก
2.ปรับวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่ทำถูกทางแล้ว แต่ขาดมาตรการรองรับ เช่น การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจดิจิทัล Industry 4.0 หรือต่อยอด Eastern Seaboard เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่หลายเรื่องขาดมาตรการรองรับชัดเจน และมีกฎระเบียบที่ต้องเร่งปรับปรุงให้ทันสมัย
- Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่าให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบควบคู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
4.นโยบายเศรษฐกิจต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย ทําให้หลายประเทศขาดแคลนสินค้าที่นําเข้าจาก 2 ประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ไทยส่งออกทดแทนได้ หรือกรณีพิพาท Chip War ระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งไทยจะชักชวนใครมาลงทุน Semiconductor หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ Geopolitics และ Global Supply Chain ที่เปลี่ยนไป
5.เรียนรู้จากคู่แข่งขัน เช่น การเปิดเสรีทางการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ Resilient Growth ที่นํามาพัฒนาเป็นนโยบายบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้เป็นรูปธรรม
6.ให้ความสำคัญกับ Skilled Labour และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
7.ภาคเอกชน คือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator สนับสนุนการสร้างโอกาสภาคเอกชนเข้าระบบเศรษฐกิจใหม่ได้เข้มแข็ง และยั่งยืน
8.ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ (White Paper) เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต