“กลุ่มเกษตรฯ-เทคโนโลยี-สินค้าอุปโภคบริโภค” ชนะดัชนีเดือน มิ.ย. หลังร่วง 3.3%

SET Index สิ้นเดือนมิ.ย. 67 ปิดที่ 1,300.96 จุด ปรับลดลง 3.3% จากเดือนก่อน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมชนะดัชนี ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ครึ่งปีหลังเริ่มเห็นสัญญาณดี


นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ครึ่งหลังปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาแสดงถึงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ธนาคารกลางสำคัญในหลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจากดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากว่า 3 ปี อย่างไรตามผู้ลงทุนยังคงรอธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งหากพิจารณาข้อมูลในอดีตพบว่าหาก FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในประเทศ Emerging Market

สำหรับเศรษฐกิจมหภาคของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่เติบโตดีกว่าคาด อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการนำเข้าสินค้าเพื่อนำไปผลิตต่อในภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและการลงทุนของภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากการทำงบประมาณมีความล่าช้าในช่วงก่อนหน้า ตัวชี้วัดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังปี 2567 หากพิจารณาอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B ratio) ซึ่งเปรียบเทียบราคาหุ้นของบริษัทกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น โดยหุ้นไทยมี P/B ratio ต่ำกว่าหนึ่งถึง 51.5% แสดงถึงตลาดกำลังประเมินมูลค่าบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท

ขณะที่การประกาศใช้ Uptick Rules ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2567 จะส่งผลทำให้มูลค่าการ Short Sell เฉลี่ยรายวันปรับลดลงและช่วยลดความผันผวนของ SET Index อีกทั้งการปรับเกณฑ์กองทุน ThaiESG ให้มีระยะเวลาถือครองลดลงไปใกล้เคียงกองทุน LTF ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านผู้ลงทุนสถาบันในประเทศจะช่วยให้ SET Index ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

 ส่วนภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า SET Index ปิดที่ 1,300.96 จุด ปรับลดลง 3.3% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและประเมินผลกระทบจากมาตรการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนที่เพิ่งประกาศไปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มเทคโนโลยี

ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,238 ล้านบาท ลดลง 22.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิรวม 115,983 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 26

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บรัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM และ บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAGURO

อย่างไรก็ตาม Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 14.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า

สำหรับอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 3.62% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.16%

นอกจากนี้ ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือนมิถุนายน 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 545,083 สัญญา เพิ่มขึ้น 38.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 448,045 สัญญา ลดลง 19.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures

Back to top button