“คลัง” ถอยใช้เงิน “ธ.ก.ส.” แจก “ดิจิทัลวอลเล็ต” หันใช้งบปี 67-68 ลดวงเงินเหลือ 4.5 แสนล.

“จุลพันธ์ ” ถอยใช้เงิน “ธ.ก.ส.” ในการแจก “ดิจิทัลวอลเล็ต” เตรียมหันไปใช้งบปี 67-68 แทน ลดวงเงินเหลือ 4.5 แสนล้านบาท


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ในการประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะนำเสนอคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตชุดใหญ่ที่ มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ รวมทั้งการแถลงใหญ่ ในวันที่ 24 กรกฎาคม โดยนายกรัฐมนตรี และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 กรกฎาคมนี้

ส่วนรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะแถลงในวันที่ 24 กรกฎาคมนั้น อาทิ ไทม์ไลน์เรื่องของการยืนยันตัวตน KYC หรือ Know Your Customer และการลงทะเบียน ทั้งส่วนของประชาชน และร้านค้าเป็น KYM หรือ Know Your Merchant ทั้งนี้ ระบบของแอปพลิเคชัน ทางรัฐ สามารถเข้าไปทำ KYC ล่วงหน้าได้แล้ว ซึ่งมีประชาชนเข้าไปดำเนินการแล้วกว่าล้านคน ส่วนเรื่องระบบการใช้จ่ายต่างๆ ก็ยืนยันว่าแล้วเสร็จทันตามกำหนด เพราะฉะนั้น ยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเริ่มใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ตามกำหนดเดิม

สำหรับเรื่องสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ได้จัดทำข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินในโครงการใหม่ เพื่อให้ไม่เป็นการตั้งงบประมาณที่มากเกินความจำเป็น จึงเสนอให้เตรียมวงเงินไว้ 90% ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 1.งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการการบริหารจัดการในปีงบ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท และ 2.งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณที่จัดสรรให้โครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และ ที่บริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท

“ยืนยันว่ากลุ่มเป้าหมายตามโครงการยังคงเท่าเดิมคือ 50 ล้านคน แต่ที่เตรียมเงินไว้เพียง 4.5 แสนล้านบาท เป็นไปเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้งบประมาณในโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ และที่ผ่านมาโครงการรัฐ จะมีประชาชนเข้ามาไม่ครบทั้ง 100% แต่จะเข้ามา 80-90% เท่านั้น อย่างไรก็ดี จะต้องมีการสรุปยอดผู้ลงทะเบียนจริงในช่วงปิดรับลงทะเบียน ราวสิ้นเดือนกันยายน 2567 นี้ รับบบาลก็จะเตรียมวงเงินตามจำนวนผู้ลงทะเบียนจริง ได้ครบ 10,000 บาททุกคนแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ข้อเสนอเรื่องแหล่งเงิน 4.5 แสนล้านบาทดังกล่าว ยังไม่ใช่ข้อสรุป เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ส่วนกรณีแหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. ยังไม่มีการตัดทิ้ง ยังคงเป็นทางเลือกอยู่ หากมีคนลงทะเบียนถึง 50 ล้านคนจริง ก็ยังเป็นแหล่งเงินตัวเลือกที่นำมาใช้ได้ อย่างไรก็ดี เวลาได้ผ่านมาระดับหนึ่ง พอมาถึงวันนี้ ก็ทำให้มองเห็นงบประมาณชัดเจนขึ้น อาทิ งบปี 2567 ก็เห็นมีเงินที่ยังเหลือเท่าไหร่และดูแล้วว่าสามารถบริหารจัดกี่ได้โดยใช้แค่เงินในกรอบงบประมาณ ก็เลยจัดทำขึ้นเป็นข้อเสนอนี้

Back to top button