FM เตรียมเทรด SET ก.ค.นี้! กลุ่ม “ดุษฏีโหนด” ติดไซเรนพีเรียด 100%

FM ชูจุดแข็งผู้ผลิตและจำหน่ายไก่แปรรูปครบวงจร กางแผนติด Top 5 ผู้ผลิตเนื้อไก่แปรรูปในประเทศไทย ระดมทุนเสนอขาย IPO จำนวน 377 ล้านหุ้น ลงสนามเทรด SET สิ้นเดือน ก.ค.นี้ เดินหน้าปรับปรุงโรงงานเพิ่มกำลังผลิต 25% ส่วนกลุ่ม “ดุษฏีโหนด” ติด Silent Period เต็มจำนวน 52% ซึ่งจะถูกห้ามซื้อขายในช่วง 1 ปี


นายณัฐพล ดุษฎีโหนด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดโมเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ FM ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารและเป็นผู้ผลิตจำหน่ายไก่ครบวงจร อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปปรุงสุกและเนื้อไก่แปรรูป เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

ทั้งนี้ บริษัทฯมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 376.96 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2.00 บาท คิดเป็น 38.16% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยวัตถุประสงค์ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงโรงงานและเพิ่มไลน์การผลิตเดิม ซึ่งจะขยายกำลังการผลิตของโรงเชือดและชำแหละไก่ รวมถึงไลน์การผลิตเป็น 6 ไลน์การผลิตจากเดิมบริษัทมีอยู่ 5 ไลน์การผลิต ทั้งนี้จะช่วยให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 36,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันที่ 27,000 ตันต่อปี หรือ เพิ่มขึ้น 25% และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและชำระคืนเงินกู้ยืม

อีกทั้ง บริษัทยังมีแผนที่จะใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงหรือธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์พลอยได้จากไก่ โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เงินทุนส่วนนี้ราว 250 ล้านบาท พร้อมกับเตรียมร่วมมือกับพันธมิตรอีก 2-3 แห่ง เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจอาหารสัตว์ โดยบริษัทที่จะเป็นผู้ร่วมทุนต้องมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายๆ กัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยถึงรายละเอียด

ขณะที่ในอนาคตบริษัทจะโฟกัสไปที่ธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้สูงนั่นคือธุรกิจเนื้อไก่แปรรูป หลังจากสัดส่วนของกลุ่มธุรกิจเมื่อปี 2566 ด้านไก่สด 60% ส่วนไก่แปรรูป 40% แต่หลังจากทำแผนบริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี ว่าในสัดส่วนของไก่แปรรูปจะกลายเป็น 60% ขณะที่ไก่สดเหลือ 40% โดยจะดันไก่แปรรูปให้มีรายได้มากกว่าเนื่องจากมีมาร์จี้นค่อนข้างมากจากปัจจุบันส่วนไก่แปรรูปที่ทางบริษัทมีการส่งออกปีละ 20,000 ตัน ส่วนเนื้อดิบส่งออกปีละ 6,000-7,000 ตัน ตามลำดับ นอกจากนั้นบริษัทได้ OEM ให้กับแบรน์ดังๆ ที่เน้นคุณภาพอีกด้วย

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจของบริษัทที่ผ่านมาได้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปยังหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, จีน และประเทศในยุโรป (EU) ปัจจุบันส่งออกมากกว่า 10 ประเทศ อีกทั้งสามารถกล่าวได้ว่าบริษัทคือ 1 ใน Top 10 ผู้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปของประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากตลาดโลก พร้อมกันนี้ในอนาคตคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตจนไปอยู่ใน Top 5 บริษัทผู้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปชั้นนำภายในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 28%

ขณะที่สัดส่วนการส่งออกสินค้าของบริษัทนั้น บริษัทมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป 53% และสัดส่วนการขายในประเทศอยู่ที่ 47% ทั้งนี้ มีแผนผลักดันส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปตลาดต่างประเทศใน 3 ปี ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 65%

ภาพรวมธุรกิจอุตสาหกรรมไก่ในประเทศไทยบริษัทมองว่ามองเห็นโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไก่แปรรูป ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ที่ผ่านมาเนื้อไก่แปรรูปจากประเทศไทยได้รับมาตรฐานจัดในอยู่ระดับ Premium โดยประเทศที่ส่งออกไปนั้น ในกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ส่วนฝั่งยุโรปจะเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึง Retail ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกค้าแบบ OEM กล่าวคือบริษัทรับหน้าที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ขณะที่ลูกค้าแบรนด์ที่เลือกใช้บริการของบริษัทต่างใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการทำธุรกิจด้วยกัน และมีการพรีออเดอร์ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกเรื่องหนึ่งของบริษัท ขณะที่ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้าซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) กลุ่มบริษัทฯ ในปี 2564 มีรายได้รวม 4,166.42 ล้านบาท, กำไรสุทธิ 183.72 ล้านบาท ต่อมาในปี 2565 มีรายได้รวม 5,825.72 ล้านบาท, กำไรสุทธิ 840.67 ล้านบาท  และในปี 2566 มีรายได้รวม 5,782.16 ล้านบาท, กำไรสุทธิ  254.69 ล้านบาท และไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,749.21 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ 124.59 ล้านบาท

นอกจากนั้น นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจาก FM เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ทางกลุ่มครอบครัว “ดุษฏีโหนด” รวมถือหุ้นจำนวน 512,088,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 51.84% ส่งผลให้ทางสัดส่วนได้ลดลงจากเดิมที่ถืออยู่ 65% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดในกิจการ

ขณะที่พันธมิตรสำคัญอย่าง นอร์ทเฮเว่น ไทย ไพรเวท อิควิตี้ โต มินิค คอมปานี (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจากก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ณ  24 ตุลาคม 2566 ถือหุ้นอยู่ 275,739,750 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 35% แต่พอหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) เหลือถือหุ้นจำนวน 98,782,785 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดในกิจการ อย่างไรก็ตามที่ “นอร์ทเฮเว่นฯ” คงเหลือถือหุ้น 10% เนื่องจากได้นำหุ้นเดิมส่วนหนึ่งออกมาขายเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป IPO จำนวน 176,956,965 หุ้น

อย่างไรก็ตามจากจำนวนหุ้นในกลุ่มครอบครัว “ดุษฏีโหนด” ถืออยู่ 52% ได้ติด Silent Period ทั้งหมดเต็มจำนวน ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลัง IPO จะถูกห้ามซื้อขายในช่วง 1 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาด โดยครบกำหนด 6 เดือน สามารถทยอยขายได้ร้อยละ 25 ของหุ้นที่ถูกห้ามขาย แต่ในส่วนของ “นอร์ทเฮเว่นฯ” มีการติด Silent Period สัดส่วน 3% ทั้งนี้ในส่วนที่เหลือเป็นการล็อกอัพด้วยสัญญาใจ เชื่อว่าจะไม่มีการขายหุ้นออกมาเนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจที่ยังเติบโตไปในทิศทางที่ดี ผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญบริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหักทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภท”  นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button