“เผ่าภูมิ” ปลื้ม 3 เดือนอสังหาฯฟื้น หลังรัฐออกมาตรการกระตุ้น

“คลัง” เน้นปรับภาษีที่ดิน-วงเงินกู้ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ 3 เดือนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 11 ก.ค.67 ) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นไปที่มาตรการด้านภาษี และ มาตรการเงิน หลังจากมาตรการดังกล่าวดำเนินไปเพียง 3 เดือน ก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี สามารถสรุปได้ ดังนี้

1.มาตรการค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ลดค่าโอนจากร้อยละ 2 เหลือ 0.01 และลดค่าจำนองจากร้อยละ 1 เหลือ 0.01 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 40,372 ราย แบ่งเป็นโอนอสังหาริมทรัพย์ 29,047 ราย และโอนห้องชุด 11,325 ราย (ตัวเลขถึงวันที่ 31 พ.ค.)

2.มาตรการส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้บุคคลธรรมดา ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) จนถึงวันที่ 10 มิ.ย. มูลค่าโครงการรวมแล้วถึง 33,278.69 ล้านบาท

3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home (วงเงิน 20,000 ล้านบาท ) ให้ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 12,576 ราย เป็นจำนวนเงิน 17,812 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.06 ของวงเงินโครงการ

4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life (วงเงิน 20,000 ล้านบาท) ให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป อนุมัติสินเชื่อแล้ว 8,141 ราย เป็นจำนวนเงิน 15,588 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.94 ของวงเงินโครงการ

ทั้งนี้ มาตรการด้านภาษี และ มาตรการเงิน ที่ช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แบ่งรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

มาตรการด้านภาษี 5 มาตรการ ประกอบด้วย

“ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม” สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้

1.“การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ร้อยละ 90 ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง

2.“การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3.“การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน

4.“มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย” ลดค่าจดทะเบียนการโอนจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 ที่จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2567

มาตรการทางการเงิน 2 มาตรการ ประกอบด้วย

1.“โครงการบ้านล้านหลัง” สนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี

2.“โครงการสินเชื่อ Happy Life” สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.98 ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ร้อยละ 1.95 ต่อปี

Back to top button