“เงินดิจิทัลวอลเล็ต” พาไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เต็มตัวหรือไม่!?
เงินดิจิทัลวอลเล็ต ความหวัง...พาไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มระบบเป็นจริงได้ หรือแค่ชวนฝัน?
ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานของภาครัฐมีช่องทางการให้บริการแบบออนไลน์ทั้งรูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน หนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนบริการออนไลน์เหล่านี้คือ “ระบบคอมพิวเตอร์” หากหน่วยงานใดต้องการจะจัดทำบริการออนไลน์ ก็ต้องลงทุนระบบคอมพิวเตอร์หลายส่วน เช่น ค่าเซิร์ฟเวอร์ ค่าบุคลากร ค่าบำรุงรักษา และค่าไฟ
ดังนั้นปัญหาคือ โครงสร้างราชการไทยทำงานแบบแยกส่วน หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำงานแบบบูรณาการ ภาพการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นภาพที่แต่ละหน่วยงานต่างลงทุนทำบริการของตัวเอง ไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน เมื่อรวมกับปัญหางบที่น้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้การลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ซ้ำซ้อน และงบประมาณที่เป็นเบี้ยหัวแตกก็มักหมดไปกับต้นทุนที่ไม่ได้ยึดโยงกับการให้บริการโดยตรง เช่น ค่าเซิร์ฟเวอร์ ค่าบำรุงรักษาระบบ ผลที่ได้คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งตามหน้าข่าวต่างๆ
ตามที่กล่าวมาข้างต้น คือ การฉายภาพให้เห็น ระบบการทำงานในรูปแบบออนไลน์ของรัฐบาลไทย ที่เรียกได้ว่า ยังไม่ดิจิทัลเต็มระบบ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า “แบบนี้ เศรษฐกิจดิจิทัล ตามคำที่รัฐบาลหลายๆชุด พูดกันมา จะมีโอกาสเกิดขึ้น จริงไหม? ”
ส่วนในภาพใหญ่ ประเทศไทยอาจผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไม่สำเร็จเพราะ “คนที่ยังไม่พร้อม” เช่น ผลการสอบ PISA 2022 ที่พบว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ การอ่าน ไม่เพียงพอต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง (68%, 53% และ 65% ตามลำดับ) หรือ ผลการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ที่พบว่ามีแรงงานเพียง 25.90% เท่านั้นที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว จากข้อมูลที่กล่าวมา บ่งชี้ว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบไปกับการพัฒนาคน เป็นหลัก หากอยากให้ไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลแบบเต็มตัว
ภาพรวมไทยจัดสรรงบพัฒนาดิจิทัลเพิ่มขึ้น
เมื่อลงไปดูรายละเอียดเนื้อในงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ พบว่ามี 2 แผนงานจาก 63 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมดิจิทัล
แผนงานแรก คือ แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล หรือ แผนงานรัฐบาลดิจิทัล งบประมาณกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรภาครัฐ สร้างแพลตฟอร์มต่างๆ และจัดทำระบบกลางเพื่อเชื่อมโยงหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน
อีกแผนงาน คือ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ แผนงานเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นงบที่มุ่งเป้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลแก่ธุรกิจและประชาชน
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา งบทั้ง 2 แผนงานเพิ่มขึ้น โดยแผนงานรัฐบาลดิจิทัลเพิ่มจาก 1,903.20 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2564 เป็น 3,029.60 ล้านบาทในปี พ.ศ.2567 คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ย 16.80% ต่อปี ส่วนแผนงานเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2,235.20 ล้านบาทในปี พ.ศ.2564 เป็น 2,455.50 ล้านบาทในปี พ.ศ.2567 เพิ่มเฉลี่ย 3.2% ต่อปี
จากตัวเลขงบดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นใน 2 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ก็พอที่จะสะท้อนให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับ เศรษฐกิจดิจิทัล แต่การให้ความสำคัญ ไม่ได้แปลความหมายว่า จะนำไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ได้สำเร็จ คงต้องเริ่มวัดจาก นโยบายเรือธงอย่าง “ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ตัวที่จะชี้วัดว่า สังคมไทยพร้อมก้าวสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล หรือไม่ อยู่ที่การใช้จ่ายผ่านโครงการดังกล่าว เพราะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลายครั้ง หลายหนว่า “ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ”
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถึงรัฐบาลจะเชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าว จะพาสังคมไทย ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ระหว่างการดำเนินโครงการดังกล่าว ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงนักธุรกิจ ส่งเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน ว่า “ลำพังการแจกเงิน จะไม่สามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง”